กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เพียงพอ พัฒนาระบบบริการหนึ่งเดียว ส่งเสริมบริการสุขภาพที่มีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ พร้อมกลไกการอภิบาลกำลังคนด้านสุขภาพให้เข้มแข็ง รองรับการจัดบริการประชาชนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ตั้งเป้ามูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการสุขภาพ ต่อ GDP เพิ่มเป็น 3.8 แสนล้านบาท ในปี 2570
วันนี้ (16 กรกฎาคม 2567) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ และยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาพรวมของประเทศ ระยะยาว (5 – 10 ปี) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นพ.โอภาส กล่าวว่า การปฏิรูปกำลังคนด้านสาธารณสุขมีความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขประเทศ และรองรับกับนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งในส่วนของ Medical Hub และ Wellness Hub ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศ โดยการปฏิรูปเชิงนโยบายในระยะกลางและระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ ต่างๆ กระทรวงกลาโหม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ก.พ. สภาวิชาชีพ เป็นต้น
“วันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนฯ ซึ่งมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การเร่งพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการให้บริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคสำคัญ ครอบคลุมทั้งการผลิต พัฒนา ส่งเสริม และกำกับดูแล, การพัฒนาระบบริการสาธารณสุขเชิงพื้นที่เป็นหนึ่งเดียว จัดระบบความร่วมมือภาครัฐเอกชนในพื้นที่, การสนับสนุนส่งเสริมบริการสุขภาพที่มีศักยภาพการแข่งขันที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และการสร้างเสริมระบบกลไกการอภิบาลกำลังคนด้านสุขภาพให้เข้มแข็ง ซึ่งจะได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลงนาม และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า การจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญ คือ 1) คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ลดอัตราการตายในโรคที่สำคัญ โดยผลิตบุคลากรรองรับ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ทารกแรกเกิด โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น 2) เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ผลิตบุคลากรให้เพียงพอ กระจายตัวอย่างเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ และรองรับการบริการในอนาคต เช่น เร่งรัดการผลิตแพทย์ 4,000 คนต่อปี พยาบาล 15,000 คนต่อปี กายภาพบำบัด 2,000 คนต่อปี แพทย์แผนไทย 1,500 คนต่อปี 3) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการสุขภาพต่อ GDP จากร้อยละ 1.33 หรือ 2.3 แสนล้านบาท ในปี 2565 เป็นร้อยละ 1.7 หรือ 3.8 แสนดล้านบาท ในปี 2570
ซึ่งคาดการณ์ว่ามี 9 สาขาวิชาชีพที่สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ได้แก่ เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ, การป้องกันและดูแลเส้นเลือดหัวใจ, การรักษากระดูกข้อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ, ทันตกรรม, การรักษาผู้มีบุตรยาก, การรักษาโรคมะเร็ง, การปลูกถ่ายอวัยวะ, การผ่าตัดหัวใจและการผ่าตัดทำบอลลูน และศัลยกรรมตกแต่งและการแปลงเพศ
16 กรกฎาคม 2567