การสูบบุหรี่ไฟฟ้า นอกจะเป็นการนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายคนสูบแล้ว ละอองไอที่พ่นออกไปยังส่งผลร้ายทำลายสุขภาพคนรอบข้างได้อีกด้วย นั่นก็เพราะว่าในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษกลุ่มโลหะหนักอันตรายหลายชนิด ที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง
วันนี้ (17 กรกฎาคม 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ขอย้ำเตือนว่าในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และละอองไอในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษอันตราย ซึ่งมีผลงานวิจัยจำนวนมาก ในต่างประเทศที่ตรวจสอบพบสารพิษกลุ่มโลหะหนักในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และละอองไอในบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารโลหะหนักเหล่านี้ จะหลุดลอกจากขดลวดในอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า หลังจากได้รับความร้อนจากแบตเตอรี่ในอุปกรณ์สูบ เมื่อขดลวดร้อนจะทำให้น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าระเหยเป็นละอองไอ ในขณะที่โลหะหนักบางส่วนมีสาเหตุมาจากสารแต่งกลิ่นรสในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า
โดยข้อมูลการวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พบว่า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษกลุ่มโลหะหนักอันตรายหลายชนิด ได้แก่ อะลูมิเนียม แคดเมียม โคบอลต์ โครเมียม ทองแดง เหล็ก ตะกั่วแมงกานีส นิกเกิล และสังกะสี ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้เป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง อีกทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจของผู้สูบและผู้ใกล้ชิดได้อีกด้วย เนื่องจากอนุภาคโลหะหนักมีขนาดเล็กมาก รวมถึงยังพบสารโลหะหนักตกค้างภายในร่างกายของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งพบปะปนอยู่ในเลือด ปัสสาวะ น้ำลาย เมื่อสูดเข้าสู่ทางเดินหายใจ บางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดในปอด ถูกพาไปยังอวัยวะต่างๆ บางส่วนจะตกค้างและสะสมอยู่ในเนื้อปอด ทำให้เนื้อปอดเกิดการอักเสบเรื้อรัง เสี่ยงเป็นมะเร็งได้
นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลด้านภัยสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าทั้งที่พบในประเทศไทยและผลการวิจัยจากต่างประเทศ จึงขอยืนยันว่ามาตรการห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย เป็นมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และขอเตือนประชาชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าควรเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เสพติดรุนแรงและทำลายสุขภาพมีสารพิษ ก่อให้เกิดโรคอันตรายร้ายแรง ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3850 เพื่อร่วมสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า
***************************
ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 17 กรกฎาคม 2567