กรมอนามัย เผยคนไทยมีความรอบรู้เพิ่มขึ้น ชูบุคคล-ชุมชน-องค์กรต้นแบบ เตรียมยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ ในงาน “NHLA” 2024

แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คัดเลือกต้นแบบสถานบริการสุขภาพชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพ และภาคีเครือข่ายระดับประเทศ ประจำปี 2567 (National Health Literacy Annual Meeting 2024) ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติโรงแรมดิเอ็มเพรส อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าจากผลการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทยในปี 2566 พบว่า คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับเพียงพอขึ้นไป ร้อยละ 80.95 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพียงพอ ร้อยละ 45 สำหรับคนไทยที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ ในปี 2566 มีร้อยละ 19.05 ลดลงจากปี 2562 พบว่า ที่คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ ร้อยละ 19.09 การมีความรอบรู้


ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ จะส่งผลถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และการบริการสุขภาพได้ไม่เต็มที่ และยังพบข้อจำกัดในการสืบค้นและค้นหาข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถืออีกด้วย ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายหลักในการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพคนไทย รวมทั้งสร้างองค์กร ชุมชน และสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับให้เป็นมิตรต่อการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ เข้าใจ ตัดสินใจในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวได้


ด้านแพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ด้วยการสร้างองค์กรและชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ จนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ผ่านระบบสาสุขอุ่นใจ ตั้งเเต่ปี 2565 ปัจจุบันมีหน่วยบริการสาธารณสุขลงทะเบียน จำนวน 11,390 แห่ง หน่วยบริการสาธารณสุขผ่านเกณฑ์องค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ จำนวน 5,391 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 47.33 มีชุมชนลงทะเบียน จำนวน 6,708 แห่ง ผ่านเกณฑ์ชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพ จำนวน 3,996 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 59.57 มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 151,664 คน ผลการประเมินพบว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพสูงถึงร้อยละ 94.51 จะเห็นได้ว่าการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนต้องอาศัยองค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ประสบการณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนความเข้าใจที่ถูกต้องในวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละชุมชน จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของคนในชุมชน กรมอนามัยจึงต้องบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ศูนย์อนามัย สำนักงานเขตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลทุกระดับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานศึกษา สถานประกอบการ และประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ


“ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และคัดเลือกต้นแบบสถานบริการสุขภาพ ชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพ และภาคีเครือข่าย ระดับประเทศ ประจำปี 2567 (National Health Literacy Annual Meeting 2024) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชิดชูเกียรติให้กับองค์กร ชุมชน และบุคคลที่เป็นต้นแบบในการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อเป็นการขอบคุณและสนับสนุนให้ทุกพื้นที่สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว