ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศสถิติจำนวนประชากรไทย ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566 ว่ามีผู้สูงวัยจำนวน 13,064,929 คน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั่วประเทศไทย นับเป็น “ประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในโลก” ที่ก้าวสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”
ก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ที่คาดว่าจะมีประชากรสูงวัยไทยเป็นจำนวนร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2578
มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ” โดย คณะเภสัชศาสตร์ จึงได้จัดตั้ง “หน่วยวิจัยชีวเภสัชศาสตร์เพื่อสุขภาวะวัยชรา“ (Centre of Biopharmaceutical Science for Healthy Aging; BSHA) เพื่อให้สอดคล้องต่อเป้าหมายเตรียมพร้อมสู่การเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์และนวัตกรรมผู้สูงวัยอาเซียน” ของประเทศได้ตามทิศทางของ “วาระแห่งชาติ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรอาณัฐชัย ม้ายอุเทศ หัวหน้าหน่วยวิจัยชีวเภสัชศาสตร์เพื่อสุขภาวะวัยชรา (Centre of Biopharmaceutical Science for Healthy Aging; BSHA) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “หน่วยวิจัย BSHA” เกิดจากความมุ่งมั่นสู่งานวิจัยเพื่อไขความลับของการเกิดโรคด้วยการศึกษาทางโมเลกุล “ชีวเภสัชศาสตร์”
ภายใต้ข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ที่ว่า “ความเสื่อมของวัย” เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่างๆ อาทิ การพบว่า “อายุที่เพิ่มขึ้น” อาจมีความสัมพันธ์ต่อ “การแสดงออกของเซลล์มะเร็ง” รวมทั้งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานที่ไม่ได้มีสาเหตุจากพันธุกรรม ความเสื่อมของเซลล์สมอง และการทำงานของหัวใจที่มีสมรรถภาพลดลง ฯลฯ
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรอาณัฐชัย ม้ายอุเทศ ยังได้กล่าวถึงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “ศาสตร์ชะลอวัย” ในปัจจุบันว่า เป็นไปในทิศทางที่เริ่มจาก “สิ่งที่เป็นไปได้” เพื่อที่จะ “เผชิญหน้ากับความชรา” ด้วยการเตรียมพร้อมสู่การเป็น “ผู้สูงวัยที่มีสุขภาวะที่ดีในองค์รวม” มากกว่าความพยายามที่จะทำอย่างไรถึงจะ “ห่างไกลความชรา” ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายต่อไปของการวิจัยเพื่อการชะลอวัยในอนาคต
เมื่อพิจารณาจากความพร้อมของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบันพบว่า มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมด้วยองค์ความรู้ที่ถึงพร้อมมากพอที่จะร่วมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์และนวัตกรรมผู้สูงวัยอาเซียน” ตามทิศทางของ “วาระแห่งชาติ”
จากที่ผ่านมา “หน่วยวิจัย BSHA” ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ด้านการพัฒนาและค้นพบยา (Drug Discovery) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตามนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมได้มีการ “เสริมแกร่งทางวิชาการ” ด้วยการจัดการเรียนการสอนและวิจัยเกี่ยวกับ “การชะลอวัย” ในรายวิชาต่างๆ ของการศึกษาระดับหลังปริญญาของคณะฯ ถึงปัจจุบัน
แม้ภารกิจของ “หน่วยวิจัย BSHA” จะไม่ได้เป็นไปเพื่อการให้บริการสุขภาวะแก่ประชาชนโดยตรง ด้วยปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ พร้อมส่งเสริม “ศาสตร์แห่งชีวเภสัชศาสตร์” ดังกล่าวให้เป็นพลังขับเคลื่อนงานวิจัยที่จะทำให้การศึกษาถึงสาเหตุ และการ “ชะลอโรค” จากผลกระทบของวัยที่เพิ่มขึ้น เป็นไปได้ในเชิงลึกถึงระดับโมเลกุล
เพื่อให้สามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาทางสุขภาวะ จากตัวแปรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสารเคมี สมุนไพร หรืออาหาร ฯลฯ ที่มีต่อความชรา สู่ความหวังแห่งมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริงต่อไปในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210