สธ. - เทศบาลนครนนทบุรี และภาคีเครือข่าย จัดอบรมและบริการผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อกฟรี เฉลิมพระเกียรติ ปีที่ 15

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ป้องกัน ควบคุม และประเมินภาวะการเกิดโรคนิ้วล็อกเฉลิมพระเกียรติ” ประจำปี 2567 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข สปสช. เทศบาลนครนนทบุรี สโมสรโรตารี่ เจริญนคร (ภาค 3350) และสมาคมนักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ (รุ่นหญ้าแพรก) เพื่อสร้างความรอบรู้โรคนิ้วล็อก พร้อมบริการผ่าตัดรักษาให้ฟรีโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยดำเนินโครงการมาแล้ว 14 ปี ผ่าตัดผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกแล้ว 1,129 ราย


วันนี้ (25 กรกฎาคม 2567) ที่ สำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ป้องกัน ควบคุม และประเมินภาวะการเกิดโรคนิ้วล็อก เฉลิมพระเกียรติ” ประจำปี 2567 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน ผู้คิดค้นเครื่องมือเจาะผ่านิ้วล็อก นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยภูมิ และ นพ.พรชัย ชอบทางศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดนิ้วล็อก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ผู้แทนสโมสรโรตารี่ เจริญนคร (ภาค 3350) ผู้แทนสมาคมนักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ (รุ่นหญ้าแพรก) เข้าร่วมงาน


นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบริการผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อคให้กับประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งโรคนิ้วล็อก พบมากในกลุ่มวัยทำงานและวัยสูงอายุ เกิดจากการประกอบอาชีพและกิจวัตรประจำวัน เช่น ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ ด้วยท่าเดิมซ้ำๆ จนก่อให้เกิดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ ของนิ้ว ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล ผู้คิดค้นเครื่องมือเจาะผ่านิ้วล็อก นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น และนพ.พรชัย ชอบทางศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดนิ้วล็อก และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งการอบรมครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับประโยชน์และองค์ความรู้ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปฏิบัติตนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนิ้วล็อกได้เป็นอย่างดี


ด้าน นายสมนึก กล่าวว่า โครงการอบรมฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนและผู้ป่วยนิ้วล็อกในพื้นที่ดูแลของเทศบาลนครนนทบุรี 5 ตำบล ได้แก่ บางกระสอ สวนใหญ่ ท่าทราย ตลาดขวัญ และบางเขน ได้มีความรู้ สามารถป้องกันและควบคุมโรคนิ้วล็อก ตลอดจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือทำงานต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจากการคัดกรองที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนในเขตเทศบาลนครนนทบุรีเป็นโรคนิ้วล็อกจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-50 ปี และปัจจุบันพบมากขึ้นในกลุ่มคนที่ทำงานสำนักงาน กิจกรรมภายในงาน จึงมีทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลนิ้วมืออย่างถูกวิธี การทำกายภาพบำบัด การแช่มือ/นวดมือโดยวิธีแพทย์แผนไทย พร้อมทั้งให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเจาะผ่านผิวหนัง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการมาแล้ว 14 ปี ตั้งแต่ปี 2552 ได้ผ่าตัดผู้ป่วยไปแล้ว 1,129 ราย และในปีที่ 15 นี้ มีผู้สนใจเข้ารับการอบรมและรับการผ่าตัดรักษา รวม 300 ราย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลนครนนทบุรี สโมสรโรตารี่เจริญนคร (ภาค 3350) และชมรมนักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ (รุ่นหญ้าแพรก)


25 กรกฎาคม 2567