มะเร็งรังไข่ ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรระวัง


ผู้หญิงมักจะนึกไปถึงโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกอันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ แต่ไม่ควรมองข้ามโรคมะเร็งรังไข่ เพราะติดอันดับ 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง โดยในคนที่เป็นมะเร็งรังไข่ระยะต้น มักจะไม่แสดงอาการ แต่จะมารู้ตัวอีกทีก็พบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ในระยะลุกลามแล้ว ฉะนั้นอย่ารอจนสายเกินไป


ผศ.นพ.สุทธิชัย แซ่เฮ้ง สูตินรีแพทย์เฉพาะทางมะเร็งวิทยานรีเวช ศูนย์แม่และเด็ก โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า มีหลายปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ โดยพบมากกับผู้หญิงวัยกลางคนช่วงอายุ 40 – 60 ปี การไม่มีบุตร มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ลำไส้ใหญ่ หรือเต้านม และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่


อาการบ่งบอกถึงการเป็นมะเร็งรังไข่ เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดท้องน้อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลำเจอก้อนที่ท้อง แนะนำควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย เพราะหากพบในระยะแรกมีโอกาสหายได้สูง


ปัจจุบันการรักษามะเร็งรังไข่มีหลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การรักษาต่อเนื่องด้วยการให้ยาเคมีบำบัดหรือร่วมกับยารักษาพุ่งเป้า สำหรับผู้มีความกังวลถึงโรคมะเร็งรังไข่ เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ และเข้ารับการตรวจภายในหรือทางทวารหนัก โดยการตรวจอัลตราซาวด์นั้นมีประโยชน์ในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ในระยะแรก และมีความไวในการตรวจพบก้อนเนื้อ ในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งร่วมกับอัลตราซาวด์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ หรือการเข้าตรวจด้วยรังสีวินิจฉัย เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography : CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging : MRI) ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยและดูการแพร่กระจายของโรค เพื่อวางแผนการรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ชำนาญการเป็นผู้ประเมิน


การดูแลตัวเองเบื้องต้น สามารถเริ่มจากการสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ หรือตรวจภายในปีละ 1 ครั้ง