กรมการแพทย์แผนไทย ชู 5 สมุนไพร พร้อมแนะนำวิธีรักษาโรคผิวหนัง และ โรคน้ำกัดเท้า

ตามศาสตร์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ในช่วงฤดูฝน  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ 5 สมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชัน ข่าแก่ ใบพลู เปลือกมังคุดแห้ง และ ทองพันชั่ง รักษาอาการโรคผิวหนัง และ โรคน้ำกัดเท้า โรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน รวมถึงวิธีการรักษาตามศาสตร์ ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้ หลายจังหวัดของประเทศไทยมีปริมาณฝนตกชุก และบางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ปัญหาสุขภาพที่สำคัญ สำหรับประชาชนที่ต้องอาศัย อยู่บริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน คือ โรคผิวหนังและโรคน้ำกัดเท้า ตามศาสตร์และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มีการนำสมุนไพรในครัวเรือนที่หาได้ง่าย 5 ชนิด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปมาใช้รักษาโรคผิวหนัง และโรคน้ำกัดเท้า ได้แก่ 1)ขมิ้นชัน แก้คัน ยับยั้งเชื้อโรคและเชื้อราได้ดี โดยวิธีรักษาน้ำกัดเท้าด้วยขมิ้นชันให้นำแง่งขมิ้นชันมาฝนกับน้ำ หรือตำกับน้ำแล้วนำ มาชโลมแผลน้ำกัดเท้าก็ได้ 2)ข่าแก่ เป็นยารักษาโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคน้ำกัดเท้าได้ ข่ายังมีฤทธิ์ ในการรักษากลาก เกลื้อน และแก้ลมพิษได้ด้วย โดยในการใช้ข่ารักษาโรคผิวหนังสามารถใช้เหง้าข่าแก่เท่าหัวแม่มือตำให้ละเอียด แล้วผสมเหล้าโรงจนเข้ากันดี จากนั้นนำมาเป็นยาสำหรับทาแผลน้ำกัดเท้าหลาย ๆ ครั้งจนกว่าอาการจะทุเลาลง 3)ใบพลู เป็นสมุนไพรรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งมีการนำใบพลูมาล้างสะอาด แล้วตำใบพลูผสมกับเหล้าขาว หรือแอลกอฮอล์ ใช้ทาแก้อาการคัน ลมพิษ หรือคั้นน้ำใบพลู มารักษาโรคกลาก เกลื้อน ฝี หนอง สิว และแผลอักเสบต่างๆ โดยทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็พบว่า ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย ที่เรียกว่า Betel oil ที่มีสรรพคุณยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและ เชื้อราบนผิวหนัง น้ำมันหอมระเหยที่มีในใบพลู ยังมีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังได้อีก 4)เปลือกมังคุดแห้ง เนื่องจากมีสารแทนนินมาก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลน้ำกัดเท้าได้ นำเปลือกมังคุดแห้งมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสให้ข้นพอควร แล้วทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการน้ำกัดเท้าได้ และ 5)ทองพันชั่ง มีสรรพคุณเด่นๆ คือการต้านเชื้อรา เนื่องจากพบสาร Diospyrol สารที่มีฤทธิ์รักษาเชื้อรา รักษากลาก เกลื้อน และต้านอาการผิวหนังอักเสบ โดยใช้ใบทองพันชั่งประมาณ 1 กำมือตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน จนกว่าแผลจะหาย
ปัจจุบัน มียาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่รักษากลุ่มอาการทางระบบผิวหนังที่มักพบได้บ่อย ในช่วงฤดูฝน ซึ่งผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ยาสมุนไพรเพื่อให้สะดวกต่อการใช้ ได้แก่ ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง สรรพคุณ ทาแก้ กลาก เกลื้อน โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา น้ำกัดเท้า ยาทิงเจอร์พลู สรรพคุณ บรรเทาอาการผิวหนังอักเสบ อาการอักเสบจากแมลง กัด ต่อย ยาเปลือกมังคุด สรรพคุณ ทาแผลสด และ แผลเรื้อรัง ยาขี้ผึ้งพญายอ สรรพคุณ บรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวม จากแมลง กัด ต่อย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ และวิธีการใช้ยา ตามฉลากกำกับยา อย่างเคร่งครัด  นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อป้องกันการเกิดโรคผิวหนังและโรคน้ำกัดเท้า ในช่วงฤดูฝน ในกรณีถ้ามีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ หรือ แช่เท้าในน้ำเป็นเวลานานๆ ควรสวมรองเท้าบูธ และดูแลความสะอาดของเท้า อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะง่ามนิ้วเท้า ระวังอย่าให้เกิดการอับชื้น ควรสวมถุงเท้าที่สะอาดและไม่อับ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคหรือบรรเทาอาการ ให้ปรึกษาแพทย์แผนไทยในสถานบริการสุขภาพของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM