ครั้งแรกในประเทศไทยที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บูรณาการวิทยาศาสตร์สุขภาพ และศิลปศาสตร์จัดเป็นหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ภายใต้ความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะศิลปศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งได้ฤกษ์เปิดรับนักศึกษาใหม่ช่วงเดียวกับที่ประเทศไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ จะต้องใส่คุณค่าและความหมายลงไปในการเดินทาง ซึ่งในเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังจากประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการนำร่อง "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ให้จังหวัดภูเก็ตได้เป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยมีการวางระบบคัดกรอง และติดตามสุขภาพของนักท่องเที่ยวไว้รองรับอย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ยอมรับในเรื่องความปลอดภัย จึงไม่น่าเป็นห่วงหากจะมีการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบด้วยการใช้หลักการเดียวกันนี้ต่อไป
ซึ่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นกำลังสำคัญในด้านการให้บริการส่งเสริม ป้องกัน และรักษาสุขภาพนักท่องเที่ยว และด้วยความเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของภูมิภาคอาเซียนของศิริราช คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักวิชาการ และผู้ประกอบการวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจากภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลก ให้แวะเวียนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการส่งเสริมต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมได้ไม่แพ้นานาประเทศในภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน
และจากที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมกับ คณะศิลปศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เป็นครั้งแรกในประเทศไทยนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ศิริราชจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวไทย ผ่านบทบาทการร่วมผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าสู่แวดวงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐพงศ์ จันทร์อยู่ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กว่า 10 รุ่นแล้วที่คณะฯ ได้รับใช้ประเทศในการผลิตมัคคุเทศก์มืออาชีพผ่านการจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา มาในปี 2564 นี้ ได้ยกระดับสู่การเป็น Entrepreneurial University หรือ มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดลสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อผลิตผู้ประกอบการด้านการจัดการท่องเที่ยวรายใหม่ที่ถึงพร้อมด้วยองค์ความรู้ และทักษะต่างๆ ซึ่งสามารถออกไปเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพให้กับประเทศได้อย่างภาคภูมิ
โดยหลักสูตรฯ ได้เปิดกว้างรับผู้สมัครวุฒิปริญญาตรีจากทุกสาขา GPA 2.75 ขึ้นไป โดยจัดให้มีการเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการจัดการที่ คณะศิลปศาสตร์ เรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ศิริราช และ เรียนรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งผู้เรียนจะได้รับการบูรณาการองค์ความรู้อย่างรอบด้านเพื่อเพิ่มพูนโอกาสในการประกอบวิชาชีพ จากรายวิชาที่น่าสนใจ อาทิ ภาษาอังกฤษเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พฤติกรรมนักท่องเที่ยว วัฒนธรรมอาหารเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการจัดการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดรายวิชาภาษาตะวันออก หรือภาษาอาเซียน ตลอดจนจัดอบรมเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมัคคุเทศก์ได้เพิ่มเติมตามที่นักศึกษาต้องการ
ในส่วนของการศึกษาดูงาน ทางหลักสูตรฯ ได้จัดให้มีการลงพื้นที่จริง ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อศึกษาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และยังจะได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน ณ จังหวัดทางภาคเหนือของไทย อาทิ เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งเป็น 2 จังหวัดมีความโดดเด่นผสมผสานทั้งด้านวัฒนธรรมล้านนา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะธุรกิจสปา ตลอดจนความงามจากธรรมชาติที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง
นอกจากนี้ หลักสูตรฯ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกเรียนแผน ก ที่เน้นการทำวิจัย และแผน ข ที่เพิ่มโอกาสในการเรียนวิชาเลือกเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อวิชาชีพการท่องเที่ยว โดยได้มีการจัดสรรทุนส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าร่วมประชุมวิชาการต่างๆ และทุนพัฒนาลักษณะบัณฑิตพึงประสงค์ ฯลฯ ร่วมด้วย
เปิดรับสมัครถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 ผู้สนใจสามารถสมัครพร้อมดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://la.mahidol.ac.th/education/tourism-management/#1628218403756-144f328c-2cee สอบถามโทร. 0-2441-4401 ต่อ 1540, 1547
เนื้อหา โดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ