ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานเปิดตัวโครงการ ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ ในหัวข้อ ‘Scaling Aged Care in Developing Countries’ และ “การแข่งขัน “Hackathon” ระดมไอเดียสู้ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา ณ กรุงเทพมหานคร” ครั้งแรกในอาเซียนของการระดมไอเดียเพื่อค้นหาสุดยอดนวัตกรรม สู่โซลูชั่นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษรผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และ Professor Zen Chu ผู้อำนวยการ MIT Hacking Medicine Initiative และ Harvard-MIT Health Sciences & Technology Program ร่วมด้วย
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นสถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดินที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มุ่งเดินหน้าพัฒนาตามพันธกิจสู่มาตรฐานระดับสากล ในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การให้บริการและสร้างเสริมสุขภาวะของคนไทย รวมถึงการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ที่ทันสมัยสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างมีศักยภาพ จึงเป็นที่มาของโครงการ “Siriraj Hackathon” ที่เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2565 และจัดอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา เป็นเวทีระดมไอเดียเพื่อค้นหาสุดยอดนวัตกรรมของนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาคณะอื่น ๆ นักเรียนมัธยมปลาย และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศและวงการแพทย์ในอนาคต โดยการจัดโครงการดังกล่าว ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Siriraj Hackathon ได้รับพระราชทานโล่ที่ระลึกจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับโอกาสในการร่วมพัฒนาและต่อยอดโครงการกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดลรวมถึงผู้สนับสนุนหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขต่อไป
และในปี พ.ศ. 2657 นี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จะดำเนินการขยายเครือข่ายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เนื่องจากสถานการณ์ผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ผู้ซึ่งบุกเบิกเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน
ต่อยอดสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุมากที่สุด ได้จัดตั้งศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช จ.สมุทรสงคราม และเปิด Soft Opening ขึ้นในเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าว เนื่องด้วย คณะฯ ต้องการเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำในนวัตกรรมด้านสาธารณสุขของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยระดับโลก ที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่าง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโครงการ ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ ภายใต้หัวข้อ ‘Scaling Aged Care in Developing Countries’ เป็นเวทีระดับสากล ที่จะร่วมค้นหาสุดยอดนวัตกรรมด้านสาธารณสุขในการแก้ปัญหาผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในด้านการคิด การทำ Prototype และแง่มุมอื่น ๆ ซึ่งนำมาสู่การพัฒนานวัตกรรมให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น”
ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษรผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุในปัจจุบันว่า “สถานการณ์ผู้สูงอายุกำลังเป็นที่จับตามองจากทั่วทั้งโลก เนื่องจากแนวโน้มอัตราการเพิ่มประชากรชะลอตัวลง
สวนทางกับอัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นถึงร้อยละ 10 จากข้อมูลของ World Population Prospects 2022 คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 16% และผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี
จะเพิ่มจำนวนขึ้นจากเดิมเป็น 3 เท่า ส่วนในประเทศไทยก็กำลังเผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดยข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ปี พ.ศ. 2566 พบว่าประชากรในภาพรวมยังคงลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนของผู้ที่มีอายุไม่เกิน 19 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 21.7% และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีมากถึง 20% ประเทศไทยจึงกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ตามที่องค์การสหประชาชาติบัญญัติไว้ ดังนั้น ในภาพอนาคตสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง
นั่นคือ การรักษาและการให้บริการทางการแพทย์ที่สามารถรองรับคนกลุ่มนี้ได้อย่างเพียงพอ ศิริราชเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงจัดงาน Siriraj x MIT Hacking Medicine ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ Scaling Age Care In Developing Countries เป็นเวทีระดับสากล ร่วมกันค้นหาสุดยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ในสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยเปิดรับสมัคร 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดเพศและอายุ และกลุ่มที่ 2 นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาคณะอื่น ๆ รวมถึงนักเรียนชั้นมัธยมปลาย อายุไม่เกิน 25 ปี
ซึ่งผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกจะมีโอกาสพิเศษเข้าร่วมกิจกรรม Hacking Medicine ที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่าง
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และสถาบัน MIT นอกจากนี้ ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับรางวัลเป็น Golden Ticket จำนวน 2 ที่นั่ง เข้าร่วมงาน MIT Grand Hack 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน ณ เมืองบอสตัน แมสซาชูเชตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา”
สำหรับงาน MIT Grand Hack 2025 เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับผู้ที่มาจะได้ความรู้เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับระบบสาธารณสุขของประเทศ สู่การพัฒนาในระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสมัครสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ https://sirirajxmithackmed.com