ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว “โครงการการเพิ่มศักยภาพการกู้ชีพแบบมีประสิทธิภาพสูงในพื้นที่บริเวณใจกลางกรุงเทพมหานคร (Maximizing Effectiveness of High-Performance CPR Delivery in Central-Bangkok: MEDIC trial หรือ MEDIC)” ภายใต้โครงการบางกอกน้อยโมเดล มุ่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดรอยต่อของการทำงานระหว่างทีมปฏิบัติการและทีมกู้ชีพ ในการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยมี รศ. นพ.พิทยา ด่านกุลชัย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ผศ. นพ.ศรัทธา ริยาพันธ์ ประธานศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช และคุณนคร พรณัฐวุฒิกุล Regional Manager, Indo China & Philippines บริษัท ZOLL Medical (Thailand) ร่วมด้วย ณ ศาลาศิริราช ๑๐๐ ปี โรงพยาบาลศิริราช
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า “ที่ผ่านมาการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินมักประสบปัญหาในพื้นที่ที่จำกัดและห่างไกลจากสถานพยาบาล จึงทำให้เข้าถึงลำบาก ส่งผลต่อการรักษาพยาบาลที่ล่าช้า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงทำการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีคุณภาพ ตามพันธกิจการพัฒนาชุมชนรอบศิริราชอย่างยั่งยืน
เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้เร็วขึ้นและครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ คณะฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครกู้ชีพชุมชน ซึ่งเป็นการจัดอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างและประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำการปฐมพยาบาลก่อนรถพยาบาลมาถึง ต่อมาคณะฯ มีการผลักดันให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความทันสมัยและเป็นต้นแบบในระดับนานาชาติผ่านโครงการการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G ซึ่งทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินรวดเร็ว ถูกเวลา ถูกสถานที่ และถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ในวันนี้คณะฯ จึงได้เปิดตัวโครงการการเพิ่มศักยภาพการกู้ชีพแบบมีประสิทธิภาพสูงในพื้นที่บริเวณใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่มาร่วมออกแบบการทำงานร่วมกัน อาทิ การสื่อสาร การส่งต่อข้อมูล และการประสานงานกู้ชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยหายใจหรือการกดหน้าอก พร้อมทั้งใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ในการช่วยเหลือผู้ป่วยและวัดประสิทธิภาพการกู้ชีพของทีมอาสาสมัครมูลนิธิปอเต็กตึ้ง และอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูในเขตพื้นที่ของโครงการ”
ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ชีพเป็นจำนวน 216 คน รวมถึงมีการติดตามจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช พบว่าเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ชีพกลุ่มดังกล่าว ได้นำความรู้มาใช้ในการปฏิบัติงานจริงอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและถูกต้องตามหลักสากล อีกทั้งยังสามารถสนับสนุนการทำงานทีมแพทย์พยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและโอกาสที่จะเกิดภาวะพิการ อีกทั้งยังสร้างความยั่งยืนในชุมชนบางกอกน้อยในระยะยาว
รศ. นพ.พิทยา ด่านกุลชัย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า “ในฐานะที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นหนึ่งในสถาบันหลักที่รักษาดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนชาวไทยมามากกว่า 136 ปี ได้ก่อตั้งศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช รวบรวมทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ร่วมพัฒนาการให้บริการผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลให้เป็นไปตามหลักสากลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5 ปี จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ภาวะที่พบในผู้ป่วยฉุกเฉินที่ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราชออกปฏิบัติการมากที่สุด ได้แก่ ภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล จึงนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิต นั่นคือ การกดหน้าอกผู้ป่วย การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจหรือเครื่อง AED ทั้งนี้หากผู้ป่วยได้รับการเข้าถึงที่รวดเร็ว รวมทั้งการดูแลเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะพิการได้อย่างมาก นอกจากนี้ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราชได้นำกระบวนการกู้ชีพแบบมีประสิทธิภาพสูงนี้มาประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน มีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ในแต่ละตำแหน่ง รวมถึงต้องผ่านการฝึกซ้อมและประเมินผลนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้รอบปีที่ผ่านมามีผู้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลจาก 1% กลายเป็น 7% โดยเกือบทั้งหมดสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ”
ในอนาคตศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราชจะขยายการเพิ่มศักยภาพการกู้ชีพแบบมีประสิทธิภาพสูงไปยังหน่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐานหรืออาสาสมัครกู้ชีพมูลนิธิร่วมกตัญญูและมูลนิธิป่อเต๊กตึ๊ง เพื่อให้การทำงานเดินไปในทิศทางเดียวกัน ลดการเกิดภาวะพิการและอัตราการเสียชีวิต นอกจากนี้ โรงพยาบาลศิริราชยังคงพร้อมที่จะสนับสนุนให้ทางศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราชนำกระบวนการดังกล่าว เป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่หน่วยงานกู้ชีพอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป
ผศ. นพ.ศรัทธา ริยาพันธ์ ประธานศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช กล่าวว่า “โครงการ MEDIC เป็น 1 ในโครงการที่ทางศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราชได้ดำเนินการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต (Chain of Survival) โดยความสำคัญของแต่ละห่วงไม่เท่ากัน จากข้อมูลในปัจจุบันห่วงโซ่สำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิต นั่นคือ การช่วยเหลือจากภาคประชาชนอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความช่วยเหลือจากหน่วยปฏิบัติการแพทย์หรือทีมกู้ชีพอย่างมีประสิทธิภาพจึงป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราชจึงได้มีการสร้างโครงการพัฒนาระบบการกู้ชีพนอกโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังได้ให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกับอาสาสมัครกู้ชีพมูลนิธิร่วมกตัญญูและมูลนิธิป่อเต็กติ๊ง ผ่านกระบวนการทำงานเป็นทีมที่เรียกว่าการกู้ชีพแบบมีประสิทธิภาพสูง (High-performance CPR) เพื่อช่วยลดขั้นตอนที่ไม่เกิดประโยชน์ และจากการติดตามพบว่าประสิทธิภาพการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถเพิ่มอัตราการกลับมาของชีพจรนอกโรงพยาบาลได้เป็น 2 เท่าจากเดิม จนได้รับการตีพิมพ์ผลงานการพัฒนาระบบของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราชในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ
สำหรับโครงการ MEDIC ได้จัดทำแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐานและทีมกู้ชีพขั้นสูงของโรงพยาบาลศิริราช โดยจัดอบรม 8 ครั้ง และมีผู้เข้าอบรมมากกว่า 200 ท่านจากมูลนิธิร่วมกตัญญูและมูลนิธิป่อเต็กติ๊ง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติหรือเครื่อง AED จากบริษัท Zoll medical Thailand อีกทั้งยังมีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามประสิทธิภาพการทำงาน การเข้าถึงเครื่อง AED ของประชาชนก่อนที่รถพยาบาลขั้นสูงจะเดินทางไปถึง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากโครงการ”
สำหรับ คุณนคร พรณัฐวุฒิกุล Regional Manager, Indo China & Philippines บริษัท ZOLL Medical (Thailand) กล่าวถึงการสนับสนุนอุปกรณ์ในครั้งนี้ว่า “ทางบริษัทได้ทำการสนับสนุนเครื่อง AED สำหรับติดตั้งในหน่วยงานกู้ชีพ ตามหลักเกณฑ์ของทางศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ป่วยในระยะเวลาอันสั้นและช่วยเหลือได้อย่างทันถ่วงที โดยความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยในบริเวณใจกลางกรุงเทพมหานครได้ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวยังคงสอดคล้องกับพันธกิจหลักของบริษัท ZOLL Medical ว่า Saving more Life หรือ ช่วยชีวิตให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้บริษัท ZOLL Medical ก่อตั้งโดยคุณหมอ Paul Moris ZOLL ซึ่งท่านเป็นคุณหมอทางด้านโรคหัวใจ จึงทำให้บริษัท ZOLL Medical มุ่งเน้นในการผลิตและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือคุณหมอให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพในการรักษาและดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น”
ในอนาคตศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราชมีแนวทางในการขยายโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานโรงพยาบาลศิริราช และทีมกู้ชีพของมูลนิธิร่วมกตัญญูและมูลนิธิป่อเต็กติ๊ง ที่เป็นกำลังหลักสำคัญในระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อไป