ฟิลิปส์ เปิดกลยุทธ์รุกตลาดเครื่องมือแพทย์ไทย ชูนวัตกรรม-AI เผยครึ่งปีแรก 2024 โตมากกว่า 10%

ฟิลิปส์ เผยผลงานในปี 2023 ที่ผ่านมาฟิลิปส์สามารถทำได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ และเติบโตแบบ Double-Digit สำหรับในปีนี้ เรายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบครึ่งปีแรก 2023 กับครึ่งปีแรก 2024 เราเติบโตมากกว่า 10% ย้ำ 3 ปัจจัยสู่ความสำเร็จของฟิลิปส์ ประเทศไทย


นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราได้ขายธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เราได้ขายออกไปแล้ว ปัจจุบันเราปรับเปลี่ยนโดยไปเน้นโฟกัสในกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ และคงเหลือเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนบุคคลไว้เช่น ที่เป่าผม เครื่องโกนหนวดเป็นต้น สำหรับทิศทางตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยนั้น เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ส่งผลให้แนวโน้มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ความต้องการบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ประกอบกับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลับมาเพิ่มขึ้นเกือบเท่ากับก่อนสถานการณ์โควิด จึงส่งผลให้ภาพรวมตลาดเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงศรี พบว่ามูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย รวมส่งออกมีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ. 2566-2568 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยจะเติบโตเฉลี่ย 5.5-7.0% ต่อปี ส่วนกลุ่มลูกค้าของฟิลิปส์ เป็นกลุ่มโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ประมาณ 70% และโรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 30%
นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เครื่องมือแพทย์ของเราจะเน้นนวัตกรรม ซึ่งไฮไลท์นวัตกรรมล่าสุด ประกอบด้วย " MR7700" เป็นเครื่องเอ็มอาร์ไอรุ่นล่าสุดของฟิลิปส์มีจุดเด่นที่เทคโนโลยี AI และเทคโนโลยี SmartSpeed ที่ช่วยให้สแกนได้เร็วขึ้น 3 เท่า และได้ภาพคมชัดมากขึ้น 65% เมื่อเทียบกับเครื่องเอ็มอาร์ไอรุ่นก่อนที่ใช้เทคโนโลยี Philips SENSE ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือจะใช้สำหรับการวิจัยทางคลีนิกก็ได้เช่นกัน โดยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นเครื่องตรวจอวัยวะด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยไม่ต้องใช้รังสี แต่ใช้หลักการทำงานของคลื่นวิทยุ สามารถตรวจวินิจฉัยอวัยวะภายในได้เกือบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ หลอดเลือด ข้อ กระดูก เป็นต้น "Ingenia Ambition MR 1.5T " เป็น MRI เครื่องแรกของโลกที่ลดการใช้ก๊าซฮีเลียมจาก 1500ลิตร เหลือเพียง 7ลิตร ด้วยเทคโนโลยี Blue Seal ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมฟิลิปส์ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับวงการสาธารณสุขโดยเฉพาะ
" Spectral CT 7500 " เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีตรวจจับสเปกตรัม ทำให้ภาพคมชัด สามารถตั้งค่าการใช้รังสีที่เหมาะสม และสามารถตรวจวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น 34% (เมื่อเทียบกับ IQON รุ่นก่อนหน้านี้) และยังสามารถใช้สำหรับตรวจผู้ป่วยได้หลากหลายมากขึ้น " EPIQ CVx VM 11" เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง หรือเครื่องอัลตร้าซาวด์หัวใจรุ่นล่าสุด ที่โดดเด่นด้วยฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้น ภาพคมชัดขึ้น และสแกนได้รวดเร็วขึ้น ในขณะที่ให้ผลอย่างแม่นยำ มาพร้อมแอพลิเคชั่น AI ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ว่าสามารถวิเคราะห์ผลได้แม่นยำ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น "Azurion7 "เครื่องตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจรุ่นล่าสุด ที่มาช่วยให้การผ่าตัดที่ซับซ้อนง่ายดายยิ่งขึ้นด้วยแอพลิเคชั่นการแสดงผลภาพทั้งแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ และยังมาพร้อมเทคโนโลยีอย่าง Echo Navigator โซลูชั่นส์ที่ใช้ร่วมกับเครื่องอัลตร้าซาวด์หัวใจ เพื่อช่วยสนับสนุนทีมแพทย์ในการทำหัตถการสำหรับโรคหัวใจที่มีรูปร่างผิดปกติ (Structural Heart) ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีโซลูชันส์แบบ ultra-low contrast percutaneous coronary intervention (ULC-PCI) หรือการฉีดสารทึบสีที่น้อยลงได้แล้ว การลดการฉีดสารทึบรังสีในระหว่างกระบวนการสวนหลอดเลือดหัวใจ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้ป่วยได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มากขึ้น
" Zenition 90 Motorized "เป็นเครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปเคลื่อนที่แบบซีอาร์มที่ขับเคลื่อนด้วยพลังมอเตอร์ โดดเด่นด้านการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ถูกออกแบบมาใหม่ล่าสุดให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของซีอาร์มผ่านปุ่มกดข้างเตียงได้ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและอิสระในใช้งานให้กับศัลยแพทย์ นอกจากนี้ Philips Zenition 90 Motorized ยังมาพร้อมเทคโนโลยีสุดล้ำในการสร้างภาพ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางคลินิกได้มากขึ้นด้วยการทำงานอัตโนมัติ การควบคุมภาพผ่านโมดูลจอสัมผัสและซอฟต์แวร์ขั้นสูง มาพร้อมเทคโนโลยี Philips BodySmart ซึ่งสามารถกำหนดการปล่อยรังสีในปริมาณที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเด็ก
นอกจากนี้ยังมี " IntelliSpace Critical Care (ICCA) "สำหรับหอผู้ป่วยวิกฤต เป็นระบบสารสนเทศสำหรับเฝ้าติดตามอาการผู้ป่วย มีระบบจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยเพื่อส่งไปยังศูนย์ควบคุมในแผนก และมีเทคโนโลยี AI ในการประเมินแนวโน้มอาการผู้ป่วยเพื่อส่งไปแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ในวอร์ด โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปสัมผัสผู้ป่วยบ่อยเกินไป และไม่จำเป็นต้องกรอกเอกสารให้วุ่นวายอีกด้วย
" IntelliSpace Cardiovascular (ISCV) " เพื่อใช้ในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยโรคหัวใจที่มาตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาล โดยระบบดังกล่าวสามารถจัดเก็บข้อมูลทั้งจากเครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่อง MRI และอื่นๆ นำมาประมวลผล เพื่อให้แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลและประเมินการดูแลรักษาต่อไป โดยผู้ป่วยก็ไม่ต้องยุ่งยากในการรอผลตรวจนาน หรือต้องนำเอกสารไปแต่ละแผนกอีกต่อไป และ " IntelliVue MX850" เครื่องติดตามสัญญาณชีพข้างเตียงผู้ป่วย สามารถแสดงผลได้หลากหลายฟังก์ชั่นพร้อมกัน ออกแบบมารองรับการใช้งานกับผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน หรือต้องเข้ารับการผ่าตัด มาพร้อมออพชั่น Visual Patient Avatar ด้วยการแสดงผลข้อมูลผู้ป่วยในรูปแบบแอนิเมชั่น โดยใช้สีและรูปร่างแทนการแสดงผลข้อมูลแบบ Data เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการอ่านผล โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด รวมทั้ง "IntelliVue MX40 " เครื่องติดตามสัญญาณชีพแบบสวมใส่ ออกแบบให้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่สามารถเดินได้ ให้สะดวกสามารถเคลื่อนย้ายเครื่องได้ด้วยตัวเอง น้ำหนักเบาและมีขนาดเล็ก สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียบสายไฟตลอดเวลา
" สำหรับปัจจัยสู่ความสำเร็จของฟิลิปส์ ประเทศไทย ประกอบด้วย การนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย และการนำเทคโนโลยี AI มาไว้ในนวัตกรรมต่างๆ อาทิ เครื่องติดตามสัญญาณชีพข้างเตียงผู้ป่วย (Hospital Patient Monitoring) ที่มาพร้อมฟีเจอร์ Virtual Patient Avatar, เครื่องตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (Philips Azurion) หรือเครื่อง Cath Lab ที่มาพร้อมเทคโนโลยี EchoNavigator และเครื่อง MR7700 ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Smart Speed และ ส่งมอบโซลูชั่นส์ที่ครอบคลุมทั้งเครื่องมือแพทย์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการจัดเก็บ ประมวลผล และเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือระหว่างโรงพยาบาลในเครือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลชั้นนำในประเทศไทย ผ่านการจัดงานประชุมวิชาการด้านเฮลท์แคร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นต่อแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย และการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต
อย่างไรก็ตามสำหรับผลงานในปี 2023 ที่ผ่านมาฟิลิปส์สามารถทำได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ และเติบโตแบบ Double-Digit สำหรับในปีนี้ เรายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบครึ่งปีแรก 2023 กับครึ่งปีแรก 2024 เราเติบโตมากกว่า 10% สำหรับไฮไลท์ผลิตภัณฑ์เด่นๆ ของเราในปีที่ผ่านมา ยังสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ใน Top 3 ในขณะที่พอร์ทในกลุ่ม Cardiovascular Care (เครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจและรักษาโรคหัวใจ) เป็นกลุ่มที่เติบโตมากที่สุด อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์ Image Guided Therapy (IGT) ที่เติบโตกว่า 40% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปี 2022 และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (Informatics) ก็เติบโตกว่า 40% ในปี 2023 เช่นกัน " ประธานและกรรมการผู้จัดการกล่าว