ไบโอเทค สวทช. และ ม.มหิดล ผุด “ไมซีเลี่ยมปลูกป่ารูปหัวใจ” และ “ไมโค-บล็อกจากกากกาแฟ” เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในจังหวัดตาก

ทีมนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับนักวิจัยจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และเครือข่ายเพื่อนสวนพฤกษ์ อ.แม่สอด จ.ตาก ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เหมืองผาแดง) อ.แม่สอด จ.ตาก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติ” และ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ” เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านกิจกรรมให้เยาวชนในพื้นที่ได้ร่วมกันสร้างหัวใจไมซีเลี่ยมที่ช่วยปกป้องเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกป่าได้ยั่งยืน และสร้างอิฐชีวภาพจากชีวมวลเหลือทิ้งภาคการเกษตรในพื้นที่ สร้างความตระหนักในเรื่องวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ผืนป่า

ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า การปลูกต้นไม้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างหนึ่ง การสร้างป่าไม่เท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซนี้เป็นสาเหตุหลักของโลกร้อน การปลูกต้นไม้จะช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ เนื่องจากต้นไม้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ดีโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง รวมถึงยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอน รักษาระบบนิเวศ และปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ป่าด้วย


 


ทีมวิจัยไบโอเทค ประกอบด้วย ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน น.ส.จารุวรรณ เชื้อสีหะรณชัย น.ส.สลิลาพร นวลแก้ว และ น.ส.ปพิชญา ขวานทอง ร่วมมือกับ ผศ.ดร.ปรียาพร เกิดฤทธิ์ ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.ดร.หนึ่งนิตย์ วัฒนวิเชียร จากกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร​์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติ” และ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ” เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยการปลูกป่าด้วยหัวใจไมซีเลี่ยม ได้ถูกนำไปสาธิตและประยุกต์ในงาน “KIT CAMP 2024” ในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ พื้นที่ผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ในขณะที่ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากเห็ดผสมกากกาแฟ” ได้ถูกนำไปสาธิตและลงมือจริงในงาน “ก็มาดิ... CRAFT” ระหว่างวันที่ 23 - 25 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรบินสัน แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นงานภายใต้ความร่วมมือของหลายภาคส่วนในจังหวัดตาก เช่น ททท.สำนักงานจังหวัดตาก หอการค้าจังหวัดตาก วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก กลุ่มนักประกอบธุรกิจรุ่นใหม่จังหวัดตาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เป็นต้น โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการทั้งสองถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG” ภายใต้ความร่วมมือกับ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก

“หัวใจไมซีเลี่ยมปลูกป่า” เปรียบเสมือนการใส่ใจ (หัวใจ) ลงไปด้วย ซึ่งหลังจากผ่านกิจกรรมปลูกป่าเสร็จ คาดว่าน้อง ๆ เยาวชนผู้ร่วมกิจกรรมจะกลับไปติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ดังกล่าวด้วย โดยชิ้นงาน “ไมซีเลี่ยมปลูกป่ารูปหัวใจ” จะนำไปประยุกต์ในด้านการอนุรักษ์ป่า ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ต่อไป และต้นไม้ที่โตขึ้นจาก “หัวใจไมซีเลี่ยม” จะนำไปสร้างการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เหมืองผาแดง ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ด้วย ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เน้นการส่งเสริมพื้นที่เกษตรและป่าชุมชนเพื่อต่อยอดโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ชุมชนแนวใหม่ ก่อให้เกิดช่องทางรายได้เพิ่ม สร้างความตระหนักรู้ของคุณค่าพื้นที่บ้านเกิด และสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อย่างยั่งยืน (Nature-Based Solution) อีกทั้งคาดว่าจะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดโลกร้อน และในอนาคตต้นไม้ที่ปลูกนั้นสามารถนำไปสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับพื้นที่ได้ด้วย ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG model ของประเทศ โดยกิจกรรมนี้ภายใต้งาน KIT CAMP 2024 น้อง ๆ เยาวชนได้ร่วมกันเรียนรู้การสร้างหัวใจไมซีเลี่ยมจากการผสมก้อนเห็ดและสารอาหาร การระบายเติมแต่งสีในหัวใจไมซีเลี่ยมตามจินตนาการ และร่วมกันปลูกป่าในพื้นที่ผาแดง เป็นกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเรื่องสำนึกรักษ์ป่าไปพร้อม ๆ กัน

ในขณะที่ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ” โดยใช้กากกาแฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในของเหลือทิ้งในท้องถิ่น จ.ตาก ผ่านเทคโนโลยีทางชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปใช้จริงในสถานการณ์จำลอง หรือในสภาวะเลียนแบบที่ใกล้เคียงสภาวะแวดล้อมจริงของกลุ่มพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ให้สอดคล้องตามความต้องการของพื้นที่ ภายใต้ BCG model และสามารถประยุกต์ต่อยอดและพัฒนาในอนาคตต่อไปได้ โดยกิจกรรมนี้ภายใต้งานก็มาดิ... CRAFT น้อง ๆ เยาวชนได้ร่วมกันเรียนรู้การสร้างอิฐจากก้อนเห็ด กากกาแฟ เศษอ้อย ข้าวโพด และชีวมวลภาคการเกษตร โดยร่วมกันทำอิฐในเต็นท์ปลอดเชื้อที่ทีมวิจัยเตรียมไว้ให้ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้ออื่น ๆ ซึ่งอิฐชีวภาพที่ได้จะเป็นอิฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ปราศจากสารเคมีอันตราย ตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม


 


“ในปัจจุบัน ‘ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ’ ถือเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาวัสดุและอาคารที่พัก (Homestay) ต้นแบบจากเศษวัสดุทางการเกษตรโดยนำไปผสมกับกลุ่มพืชไร่ข้าวโพด โดยชุมชนและโรงเรียนด้านสิ่งแวดล้อมของ จ.ตาก ในการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวสีเขียว ชุมชนแนวใหม่ ที่เปิดโอกาสให้คนได้อยู่ร่วมกับพืชและสัตว์ ช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ให้คนดูเเลธรรมชาติจากใจมากขึ้น โดยสอดแทรกทั้งกิจกรรมและนวัตกรรมวัสดุเพื่อเป็นบ้านที่ปลอดภัยของต้นไม้ เช่น กลุ่มกล้วยไม้ป่า กลุ่มไม้ยาง กลุ่มเห็ดป่า เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในพื้นที่ร่วมกับนวัตกรรมวัสดุเพื่อเป็นบ้านที่ปลอดภัยของแมลงและนก เช่น ผึ้ง ชันโรง และนกโพรงบางประเภท เป็นต้น จึงเป็นการพัฒนาแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับธรรมชาติรูปแบบใหม่ของประเทศไทย” ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน กล่าวปิดท้าย

 


สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยด้านเทคโนโลยีเส้นใยไมซีเลี่ยม ไบโอเทค สวทช. โทร. 0 2564 6700 ต่อ 3243 E-mail: nattawut@biotec.or.th