การดื่มแอลกอฮอล์นอกจากปลายทางจะพบกับ “ความสูญเสีย” จากอุบัติเหตุ ยังพบกับ “ความเสี่ยง” ต่อการเกิด “โรคมะเร็ง” หลายชนิด สาเหตุสำคัญเกิดจากสารเคมี “อะเซตัลดีไฮด์” (Acetaldehyde) ที่มาจาก “กระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์” ของร่างกาย
จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร ซึ่งดำเนินการทุก 3 ปี โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดปี พ.ศ. 2564 จากการสำรวจร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 15.7 “ดื่มนานๆ ครั้ง” และ “ดื่มแล้วขับบางครั้ง” ร้อยละ 43.3 ในกลุ่มอายุ 25 - 44 ปี
จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แม้ประเทศไทยจะมีการรณรงค์เมาไม่ขับอย่างต่อเนื่อง แต่คงไม่อาจตั้งเป้าหมายให้มีผู้ดื่มเครื่องดื่มจากแอลกอฮอล์เท่ากับศูนย์ แม้จะมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยบนท้องถนน ตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล
ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา การให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ด้วยปณิธานมุ่งสู่การเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้สามารถ “ใช้ชีวิตด้วยปัญญา“ ในโลกที่เปลี่ยนแปลง
โดยมีเป้าหมายให้ “ดื่มอย่างมีสติ” ด้วยความตระหนักถึง “ผลกระทบจากแอลกอฮอล์ต่อสุขภาวะ” น่าจะเป็นเหตุผลที่เหมาะสมที่สุดในการแสดงความมีส่วนร่วมทำให้สังคมไทยดีขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงดุลยพร ตราชูธรรม หัวหน้ากลุ่มวิชาการและวิจัยด้านอาหารและโภชนาการ และกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย (ภาคปกติ และภาคพิเศษ) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยในกลุ่มตัวอย่างวัยเรียนและวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 20 - 50 ปี และไม่เคยป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะทางพันธุกรรมตามข้อมูลทางมานุษยวิทยา ได้แก่ กลุ่มคนทั่วไป และกลุ่มผู้ที่มี “ยีนหน้าแดง” (Mutant ALDH2)
จากการตั้งข้อสันนิษฐานว่าผู้ที่มีเชื้อสาย “จีนฮั่น” สีผิวขาวเหลือง มีแนวโน้มที่จะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เรียกว่า “ยีนหน้าแดง” ซึ่งบกพร่องในการกำจัดสารพิษ “อะเซตัลดีไฮด์” (Acetaldehyde) ที่มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ สารพิษดังกล่าวเป็นต้นเหตุของอาการเมาสุรา และเป็นสารก่อมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งช่องปากและคอหอย มะเร็งลำไส้ เป็นต้น
ผู้ที่มียีนหน้าแดงหลังดื่มแอลกอฮอล์เพียงแก้วเดียวจะมีผื่นแดง ขึ้นที่หน้า หู ลำคอ หรือตามลำตัว และมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง สูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
ผู้วิจัยจึงได้ให้ทั้ง 2 กลุ่มทดลองดื่ม “นมเปรี้ยว” เพื่อทดสอบผลต่อการลดพิษของแอลกอฮอล์ โดยเป็นนมเปรี้ยวที่บ่มด้วยจุลินทรีย์ที่มีสายพันธุ์เฉพาะซึ่งไม่มีจำหน่ายตามท้องตลาดโดยทั่วไป เพื่อการวิจัยเสริมคุณค่าในการป้องกันโรค และขยายผลสู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพต่อไปในอนาคต
เมื่อให้ผู้เข้ารับการทดสอบดื่มนมเปรี้ยวในปริมาณ 150 มิลลิลิตร ประมาณ 5 นาทีก่อนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าสามารถช่วยลดระดับการเกิด “อะเซตัลดีไฮด์” (Acetaldehyde) ในเลือดและน้ำลาย ทั้งในคนที่มียีนหน้าแดงและคนทั่วไป ผลวิจัยได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Food and Function”
อย่างไรก็ดีผู้วิจัยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาชนเกิด “ความตระหนัก” ในเรื่องสุขภาพและอุบัติภัยที่จะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตทั้ง “ผู้ดื่มแล้วขับ” และ “ผู้ร่วมเดินทาง” มากกว่าการมอบ “ทางเลือกเพื่อลดเมา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มี “ยีนหน้าแดง” ที่มี “ข้อจำกัดสูง” ในการ “กำจัดสารพิษจากแอลกอฮอล์”
โลกของการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ผู้สนใจศึกษาเจาะลึกเกี่ยวกับ “โภชนาการกับโรคมะเร็ง” สามารถลงทะเบียนในโครงการเรียนรู้ตลอดชีพ MAP-C (Mahidol Apprenticeship Program Curriculum) ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล วิชา NUTS631
เพื่อรับข้อแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลตัวเอง และครอบครัว ตลอดจนขยายผลต่อยอดทางการศึกษา และการประกอบวิชาชีพ ได้แก่ ข้อแนะนำด้านอาหารสำหรับป้องกันโรคมะเร็ง การเรียนรู้เกี่ยวกับสารต้านมะเร็งในอาหาร และความปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง ไปจนถึงอิทธิพลของสารอาหารและสภาวะโภชนาการต่อการเกิดมะเร็ง ฯลฯ
และเพื่อให้เข้าถึงความรู้เรื่องโภชนาการมากยิ่งขึ้นในวงกว้าง ผู้สนใจทั่วไปสามารถลงทะเบียนออนไลน์เพื่อเข้ารับการอบรมระยะสั้นแบบกลุ่มคอร์ส (Bundle package) โดยมีให้เลือกเรียนได้ตามความสนใจ ได้ทุกที่ทุกเวลาพร้อมรับประกาศนียบัตรเมื่อวัดผลผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ใน 4 คอร์ส ได้แก่ คอร์สสารก่อมะเร็ง คอร์สผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร : ความจำเป็นและความปลอดภัยอาหาร คอร์สโภชนาการพื้นฐานเพื่อการป้องกันโรค และคอร์สโภชนาการเพื่อควบคุมน้ำหนักอย่างปลอดภัย ทาง https://rb.gy/d6ph1z
โดยในอนาคตจะเปิดให้สามารถขยายผลจากการอบรมระยะสั้นเพื่อเก็บหน่วยกิตสะสมเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปกติระดับบัณฑิตศึกษา ของ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ต่อไปอีกด้วย ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook : พิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย https://sites.google.com/view/inmutox
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210