คงเป็นไปไม่ได้หากจะดักจับ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น “ตัวการสำคัญทำโลกร้อน” ที่ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ มากักเก็บจนหมดโลกในคราวเดียว และคงไม่ต่างอะไรกับการจัดการที่ “ปลายเหตุ”
ด้วยพลังแห่ง “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำไปสู่การค้นพบใหม่ ด้วยวิธีการ “กำจัดคาร์บอน” จาก “แหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม”
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การให้พลังงานแก่สสารจนเกิดการไอออไนเซชัน และแก๊สเปลี่ยนสภาพกลายเป็นพลาสมา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เดียวกับ “ฟ้าผ่า” สามารถทำลายคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้สรรพสิ่งบนโลกได้อยู่ในชั้นบรรยากาศที่สะอาดปราศจากมลพิษ
ด้วยหลักการดังกล่าวได้นำไปสู่งานวิจัยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการอาร์คพลาสมา สามารถนำไปสู่การกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม (CO2 Elimination by Arc Plasma (CEAP) ผลงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย ซึ่งสามารถกำจัดได้ตั้งแต่ “ต้นตอการผลิต”
โดยพบว่าการจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยพลาสมาที่สร้างขึ้นภายใต้ระบบสูญญากาศที่ทำกันโดยทั่วไปไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง แต่ด้วยวิธี CEAP จากผลการทดลองในเบื้องต้นพบว่าสามารถทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สลายได้อย่างรวดเร็ว จาก 2,000 ส่วนในล้านส่วน (PPM - Parts Per Million) เหลือเพียง 380 PPM ภายในเวลาเพียง 30 วินาที
โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Environmental Chemistry Letter” และอยู่ระหว่างการต่อยอดโดยมุ่งเป้าหมายไปที่การทำให้ทุกโรงงานได้เป็น “โรงงานสีเขียว”
ซึ่งหากสามารถผลักดันให้ได้ติดตั้งทุกโรงงาน จะทำให้ได้ “ลมหายใจสีเขียว” กลับคืนมาตั้งแต่ต้นทาง และก้าวต่อไปอาจพัฒนาสู่ “ต้นแบบขนาดเล็ก” เพื่อขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์นวัตกรรมดังกล่าวออกไปในวงกว้าง
และยังถือเป็นโอกาสในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนจากการ “สร้างคน” ผ่านหลักสูตรวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญในการสานต่ออนาคต “อุตสาหกรรมสีเขียว” เพื่อ “ต่อลมหายใจ” โลกในวันข้างหน้า
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210