สบยช. เตือนภัยผู้ปกครอง ระวังการลักลอบจำหน่ายยาเสพติด ผ่านช่องทาง Social Media (โซเชียลมีเดีย) หรือสื่อสังคมออนไลน์

กรมการแพทย์

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เตือนภัยผู้ปกครอง ระวังการลักลอบจำหน่ายยาเสพติด ผ่านช่องทาง Social Media (โซเชียลมีเดีย) หรือสื่อสังคมออนไลน์ ต้องหมั่นติดตามข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ พร้อมสังเกตพฤติกรรมบุตรหลาน
          นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันพบการลักลอบจำหน่ายยาเสพติดผ่าน Social Media (โซเชียลมีเดีย) หรือสื่อสังคมออนไลน์ โดยที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้คงหนีไม่พ้น “กาแฟซองละ 3000” ซึ่งเป็นการโพสจำหน่ายยาเสพติด โดยบรรจุอยู่ในซองกาแฟ 3 in 1 ภายในซองเป็นการนำยาอีบดเป็นผง ผสมกับยาไฟว์ ไฟว์ (five - five) หรือ อิริมินไฟว์ (Erimin5) และยาเสพติดชนิดอื่น โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดอาการมึนเมาได้มากกว่าการเสพยาอีเพียงอย่าเดียว ทั้งนี้ ยาไฟว์ ไฟว์ (five - five) หรือ อิริมินไฟว์ (Erimin5) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในกลุ่มยากล่อมประสาท จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2522 ออกฤทธิ์รุนแรง จึงต้องมีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ยาไฟว์ ไฟว์ (five - five) หรืออิริมินไฟว์ (Erimin5) จะทำให้ผู้เสพเคลิบเคลิ้ม มีอาการมึนเมา สับสน ทำอะไรโดยไม่รู้ตัว หากเสพในปริมาณมาก หรือเสพร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสพร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น จะออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางกดการหายใจ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
           นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันผู้ค้ายาเสพติด มักจะนิยมนำยาเสพติดหลายชนิดมาผสมรวมกัน โดยอ้างสรรพคุณว่าทำให้เกิดอาการมึนเมาได้มากกว่าการเสพยาเสพติดเพียงชนิดเดียว และลักลอบจำหน่ายตามช่องทาง Social Media (โซเชียลมีเดีย) หรือสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น เช่น Tiktok Twitter ทำให้ตรวจสอบได้ยากมากขึ้น ซึ่งการใช้ยาเสพติดทุกชนิดไม่เกิดผลดีต่อตัวผู้เสพเลยฝากถึงผู้ปกครองควรหมั่นติดตามข่าวสารจาก Social Media (โซเชียลมีเดีย) หรือสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมกับ การสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานหรือคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้เงินในการสั่งของทางออนไลน์มากผิดปกติ หรือพบสิ่งของต้องสงสัย ต้องรีบเข้าไปพูดคุย ซักถามด้วยเหตุผล แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา และรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี