กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี 2568 เดินหน้าดูแลสุขภาพสตรีไทย ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Women Health)

วันนี้ (26 กันยายน 2567) นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 ในทุกมิติให้มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ตั้งแต่การเกิดของเด็กไทย ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีอัตราการเกิดลดลง ดังนั้นต้องดูแลทารกแรกเกิดอย่างดีที่สุด โดยทารกแรกเกิดจะต้องได้รับการตรวจภาวะพร่องโฮโมนไทรอยด์ โรคทางพันธุกรรมที่หายาก เพื่อรักษาได้ทัน เป้าหมายหลัก คือ “ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย ผลการรักษาดี สติปัญญาดี” เพื่อให้เด็กไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต


สำหรับการคัดกรองในสตรีตั้งครรภ์ จะมีการคัดกรองโรคดาวน์ซินโดรม โรคธาลัสซีเมีย ส่วนสตรีที่แม้ไม่ได้ตั้งครรภ์ ยังมีความเสี่ยงต่อโรคในสตรี โดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกที่พบมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโรคมะเร็งทั้งหมดในสตรีไทย การรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีไทยเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกันโรค โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรง เพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจ วางแผนป้องกัน และรักษา ได้ทันเวลา ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมได้


นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก ในแต่ละปี ประเทศไทยจะพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เกือบ 1 หมื่นราย และเสียชีวิตเกิน 50% หรือทุก 2 ชั่วโมง จะมีสตรีไทย 1 คนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นการฉีดวัคซีน HPV ในเด็กผู้หญิงจึงมีความสำคัญมาก รวมทั้งการตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อไวรัส HPV ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ทำให้สามารถรักษาหายได้ ซึ่งปัจจุบันการตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA test โดยการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง เป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช.กำหนดให้หญิงไทยสามารถตรวจได้ฟรี การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA test เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV แบบเจาะลึก ระดับ DNA ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกโดยตรง สามารถระบุสายพันธุ์เสี่ยงสูง ได้ถึง 14 สายพันธ์ มีความไวในการตรวจพบเชื้อไวรัส HPV ถึง 90-95% มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจพบเชื้อได้ในระยะแรกก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตาม จำนวนหญิงไทยกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกน้อยมาก ยังมีหญิงไทยกลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับการตรวจคัดกรองอีกกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นในปี 2568 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงร่วมกับภาคีเครือข่าย ตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง และขอเชิญชวนสตรีไทยอายุ 30-60 ปี ที่ไม่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา มารับการตรวจคัดกรอง โดยสามารถลงทะเบียนรับชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองฟรี สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง หรือสถานบริการใกล้บ้าน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 98033, 99305, 99206 และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ” นายแพทย์ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย