สธ.เผย “เชียงราย” หลังน้ำลดลง ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต 230 ราย ดูแลจนหมดความเสี่ยงแล้ว 123 ราย

หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เผย ยังมีสถานการณ์น้ำท่วม 16 จังหวัด “เลย” คลี่คลายแล้ว “เชียงราย” ระดับน้ำลดลง หลังเจอน้ำป่า-น้ำท่วมฉับพลัน กระทบ รพ.สต. 2 แห่ง แต่เปิดบริการได้ตามปกติ ล่าสุดพบร่างผู้สูญหายจากถูกน้ำป่าพัดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย กลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องส่งพบแพทย์ 230 ราย ได้รับการติดตามดูแลจนหมดความเสี่ยง 123 ราย อยู่ระหว่างติดตามดูแลอีก 107 ราย


วันนี้ (2 ตุลาคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ในฐานะหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 16/2567 ว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้เป็นประธานศูนย์ปฏิบัติการฯ โดยขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์ใน 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก ตาก พิจิตร นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก อ่างทอง มหาสารคาม หนองคาย และอุดรธานี ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่า จ.เลยสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ขณะที่ จ.เชียงราย ซึ่งมีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากเมื่อวานนี้ ส่งผลกระทบ อ.เมืองเชียงราย อ.เชียงแสน และ อ.แม่ลาว ล่าสุดระดับน้ำลดลงแล้ว มีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.ท่าสุด และ รพ.สต.บ้านดู่ แต่ยังเปิดให้บริการได้ปกติ ภาพรวมมีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบสะสม 87 แห่ง เปิดบริการตามปกติ 86 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง ที่ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร ส่วนชายอายุ 63 ปี ที่ถูกน้ำป่าพัดสูญหายตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2567 ที่ อ.เวียงป่าเป้า พบร่างแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 54 ราย บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 104 ราย สะสม 2,216 ราย


นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการเปิดศูนย์พักพิง 68 แห่ง ใน 6 จังหวัด มีผู้รับบริการ 594 ราย ในรอบวันที่ผ่านมาจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 61 ทีม ให้บริการด้านแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 6,082 ราย (ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม - ปัจจุบันให้บริการสะสม 195,894 ราย) แบ่งเป็นการเยี่ยมบ้าน 2,474 ราย ให้สุขศึกษา 2,251 ราย ตรวจรักษา 1,352 ราย ส่งต่อ 5 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม 1,169 ราย (สะสม 30,562 ราย) เป็นผู้ติดบ้านติดเตียง 579 ราย และผู้สูงอายุ 590 ราย ประเมินสุขภาพจิตเพิ่มเติม 171 ราย ไม่พบภาวะเสี่ยง ภาพรวมให้บริการสุขภาพจิตสะสม 40,265 ราย มีการส่งต่อพบแพทย์ 230 ราย จากอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล 223 ราย ผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับผลกระทบ 2 ราย ผู้มีความเสี่ยงซึมเศร้า 2 ราย เครียดเฉียบพลัน ผู้มีประวัติติดสุราเรื้อรัง และผู้มีภาวะหลงลืมอย่างละ 1 ราย โดยแพทย์ได้ให้ยารักษาพร้อมคำแนะนำ ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต โดยทีม MCATT ในระยะหลังเกิดเหตุการณ์ (2 สัปดาห์ - 3 เดือน) พบว่า ได้รับการติดตามจนหมดความเสี่ยง 123 ราย ติดตามต่อระยะฟื้นฟูหลัง 3 เดือนขึ้นไป 9 ราย และรอติดตามระยะหลังเกิดเหตุการณ์อีก 98 ราย


สำหรับเรื่องทรัพยากรคงคลังและอัตราการใช้ภาพรวมยังคงเพียงพอ ได้สั่งการให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์สำรองทรัพยากรขั้นต่ำอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายให้สำรองทรัพยากรขั้นต่ำอย่างน้อย 1 เดือน และให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลการจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรภายในเขตสุขภาพให้เพียงพอ รวมถึงสามารถขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากส่วนกลางได้


2 ตุลาคม 2567