ม.มหิดลร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนบึงบอระเพ็ดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างเครือข่ายการทำงานในพื้นที่บึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยการใช้การวิจัย และบริการวิชาการให้กับชุมชนและสังคม โดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมาได้มีการปลดล็อกเรื่องที่ดิน นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้ บึงบอระเพ็ด SANDBOX”


 


ดร.ณพล อนุตตรังกูร หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นเบื้องหลังสำคัญในการถักทอเครือข่ายชุมชนและภาครัฐ สู่การพัฒนาที่สอดคล้องกับพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 7 ที่พระราชทานบึงบอระเพ็ดให้เป็นแหล่งบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ และสอดคล้องกับกฎหมายหลักในบึงบอระเพ็ดทั้ง 3 ฉบับ


ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนของชุมชนด้วยการร่วมกันเสนอ แผนพัฒนาบึงบอระเพ็ด ให้กับสภาปฏิรูปแห่งรูป ทำให้นำไปสู่การขับเคลื่อนในระดับนโยบายสู่การได้นำซึ่งสิทธิการเช่าที่ดินของชุมชน รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม


ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งรวมตัวกันจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำรอบบึงบอระเพ็ด 5 ตำบล เชื่อมโยงเครือข่ายสู่พื้นที่ตอนบนอีก 4 ตำบล ทำให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งแรกที่มีองค์กรผู้ใช้น้ำมากที่สุดในประเทศ พร้อมทั้งมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่เกิดจากข้อเสนอของทุกภาคส่วน และจังหวัดนครสวรรค์รับรองระบบการบริหารจัดการน้ำเรียบร้อยแล้ว


ล่าสุดได้มีการต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพของชุมชนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการทดลองการทำนาที่ใช้น้ำน้อย และการนำวัชพืชน้ำมาทำปุ๋ยเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการรวมกลุ่ม และขยายผลในปีถัดไป


นอกจากนี้วิทยาเขตนครสวรรค์ ได้เตรียมการเชื่อมโยงกับคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล สู่การพัฒนาในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ในการสร้างระบบการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียม


ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลสู่การตัดสินใจในการบริหารจัดการ รวมทั้งการจัดเสวนาโอกาสการพัฒนาที่ยั่งยืนของบึงบอระเพ็ด โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) วิทยาลัยการจัดการ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเครือข่ายบึงบอระเพ็ดในการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ภายใต้ บึงบอระเพ็ด SANDBOX” ที่มีเป้าหมายที่สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และสู่การเป็นพื้นที่ Ramsar site ในปี พ.. 2585


จากผลงานรับใช้สังคมที่เน้นการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ จนเป็นที่ประจักษ์ในบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มนำ้ที่เปรียบเสมือนสายโลหิตของคนไทยทั้งชาติ ส่งผลให้ ดร.ณพล อนุตตรังกูร ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2566 ประเภทดีเด่นเฉพาะทาง สาขาการบริการ โดยจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลฯ จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566


โดย ดร.ณพล อนุตตรังกูร กล่าวทิ้งท้ายว่า สถาบันการศึกษาสามารถทำหน้าที่รับใช้ชุมชนสังคมได้ ด้วยการนำองค์ความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ การสนับสนุนข้อมูลสู่การตัดสินใจร่วมกัม รวมทั้งการบริการวิชาการที่เน้นการให้มากกว่าการรับ จะทำให้ชุมชนและสังคมก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210