โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ระบบการจัดการศึกษาส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เช่นเดียวกับทิศทางการประกอบวิชาชีพที่พบว่าปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจหันมาประกอบวิชาชีพอิสระ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัวกันมากขึ้น
ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 4 ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชากรโลกเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม และข้อที่ 10 ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังภายในปี พ.ศ.2573 ของสหประชาชาติ ให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับการดำรงชีวิต
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทิศทางการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนบทเรียนออนไลน์ MUx ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเปิดตัว 12 หลักสูตรที่น่าสนใจให้ประชาชนทั่วไปได้ลงทะเบียนอบรมออนไลน์ฟรี พร้อมรับประกาศนียบัตรเมื่อผ่านการวัดผลตามที่แต่ละหลักสูตรกำหนด
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับจากที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ตามมาตรฐาน ISO/IEC 40180:2017 ได้ทำให้ประชาชนเกือบครึ่งล้านให้ความเชื่อมั่นวางใจในคุณภาพของการจัดบทเรียนออนไลน์ MUx ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้พยายามปรับปรุงและพัฒนารายวิชาต่างๆ ให้สนองต่อความต้องการของประชาชน ทันต่อโลกยุคปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตอยู่เสมอ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่มีความต้องการเพิ่มพูนและฟื้นฟูทักษะ (Upskill / Reskill) ทางด้าน IT และการจัดการ โดยทางผู้สอนของแต่ละหลักสูตรมุ่งเป้า Outcome - based Education ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์จากการอบรม ให้ประชาชนได้เลือกเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มพัฒนารายวิชาแบบ Micro credential ที่แบ่งย่อยหน่วยกิตให้เล็กลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ และการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมหิดล จากการได้สะสมหน่วยกิตแล้วนำมาเทียบโอนเพื่อร่นระยะเวลาในการสำเร็จการศึกษา และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยยังคงคุณภาพขององค์ความรู้ที่คัดสรรจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะนักประชากร และนักวิจัยผู้ขับเคลื่อนนโยบายทางสังคมว่า จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า ประชากรไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มในการประกอบธุรกิจ หรือวิชาชีพอิสระที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 พบว่ามีประชากรไทยในวัย 15 ปีขึ้นไปประกอบวิชาชีพอิสระประมาณร้อยละ 32 ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมด ซึ่งประชากรที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะประกอบวิชาชีพอิสระกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากช่วงอายุ 20 - 30 ปี อาจเป็นช่วงของการค้นหาตัวตน และการเรียนรู้เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานในองค์กร หรือสถานประกอบการ ซึ่งหลังจากสะสมทั้งต้นทุน และประสบการณ์ได้พอสมควรแล้ว จึงมองหาอาชีพอิสระ นอกจากนี้ยังพบว่ารูปแบบของการทำงานอิสระมีแนวโน้มเปลี่ยนไป ปัจจุบันนิยมประกอบวิชาชีพอิสระที่ใช้ทักษะเฉพาะในเชิงสร้างสรรค์ (creativity) กันมากขึ้น
ซึ่งหลักประกันที่ดีที่สุดของผู้ที่ประกอบวิชาชีพอิสระ คือ การสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมองไปถึงชีวิตในบั้นปลาย ที่จะต้องเป็นผู้สูงวัยกันต่อไปในอนาคตด้วย ซึ่งจะต้องมีการเตรียมพร้อมกันตั้งแต่ช่วงวัยทำงานหนุ่มสาว นอกจากนี้ไม่ควรหยุดที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยควรที่จะ Upskill / Reskill ทักษะต่างๆ เพื่อความก้าวหน้าในชีวิตอยู่เสมอ
สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ คือ ทักษะทางด้าน IT ดร.ศุจิกา ศรีนันทกุล ผู้ดูแลการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ของคณะเทคโนโลยีสารสารเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า รายวิชาที่คณะฯ เปิดสอนทาง MUx มีทั้งแบบ Softskills หรือทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่จำเป็น และ Computer Technology เพื่อการต่อยอดประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยจะทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และเพิ่มโอกาสทางวิชาชีพได้ เนื่องจากในการทำงานต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบันล้วนมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น
ซึ่งรายวิชาของคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดสอนทาง MUx ที่น่าสนใจ ได้แก่ "Introduction to Computer Networks and the Internet" "Software Quality Assurance and Testing : Introduction to Testing Principles and Structured Testing Techniques" "พื้นฐานการผลิตสื่อผสมเพื่อการตลาดออนไลน์" "การวิเคราะห์ข้อมูลในเบื้องต้น" "เทคโนโลยีเพื่อการจัดการความรู้" และในอนาคตจะเปิดรายวิชา "Social Media สำหรับผู้สูงวัย" ที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ สู่การเป็น "ผู้สูงวัยเปี่ยมพลัง" ที่พร้อมรับสิ่งใหม่ ซึ่งจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่ง และยั่งยืนให้กับสังคมสูงวัยในอนาคตได้ต่อไปอีกด้วย
ผู้สนใจลงทะเบียนอบรมบทเรียนออนไลน์กับ MUx สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง http://mux.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา