องค์กรพันธมิตรโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งเอเชียแปซิฟิก กรมการแพทย์ และ สปสช. ร่วมจัด “การประชุมโรคหัวใจและหลอดเลือดระดับเอเชียแปซิฟิกในไทยครั้งแรก” มุ่งเป้าหาแนวทางใหม่ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัด-ฟื้นฟู สร้างองค์ความรู้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ลดผู้ป่วยในอนาคต
องค์กรพันธมิตรโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Cardiovascular Disease Alliance) พร้อมด้วยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมจัดประชุมโรคหัวใจระดับเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Heart Summit) ที่ประเทศไทยระหว่างวันที่ 18 - 19 ต.ค. 2567 และนับเป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดในระดับทวีปครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดจากทั่วภูมิภาคในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก จำนวนกว่า 100 คนเข้าร่วม ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร
นพ.เอ็น กฤษณะ เรดดี้ (N Krishna Reddy) ประธานฝ่ายบริหารองค์กรแอคเซลเฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะผู้แทนจากองค์กรพันธมิตรโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การประชุมโรคหัวใจระดับเอเชียแปซิฟิกครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางใหม่ที่จะใช้ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบาย องค์กรประชาสังคม ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ที่จะเข้ามาเติมเต็มการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน การรักษาพยาบาล การบำบัดฟื้นฟู ที่จะเป็นการกำหนดอนาคตสุขภาพของประชาชนในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามและศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย องค์กรพันธมิตรโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งเอเชียแปซิฟิก เห็นว่า ประเทศไทยมีรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และมีบริการในสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม โดยเฉพาะด้านการตรวจวินิจฉัย และการรักษาพยาบาล แต่กระนั้น ก็ยังมีจุดที่ท้าทาย คือ การเพิ่มบริการในด้านการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องในชุมชน รวมไปถึงการดูแลระยะยาวในชุมชนอย่างเป็นระบบ และมีความครอบคลุม ซึ่งสำคัญต่อการฟื้นฟูดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหลังการรักษา อีกทั้ง ในประเด็นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มประชาชน เพื่อให้มีความรู้ที่จะดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าจะมีการขับเคลื่อนให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาล และนายสมศักดิ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพื่อลดผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่จะตามมา ทั้งนี้ โรค NCDs เป็นอีกต้นตอของโรคอื่นๆ ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างเช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง (สโตรก) ซึ่งเมื่อเป็นโรคต่างๆ เหล่านี้แล้วก็ต้องเข้าถึงการรักษาให้ทันท่วงที เพราะมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งการลดผู้ป่วยโรค NCDs ก็จะเป็นการลดผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกจำนวนครึ่งหนึ่งในอนาคต สธ. จึงขับเคลื่อนเรื่องนี้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แม้จะมีชีวิตรอดแต่ก็มีอีกบางส่วนที่ต้องทุพลภาพ รวมไปถึงอาจนำไปสู่ภาวะไตพังที่เป็นผลจากการรักษา ซึ่งกรมการแพทย์ จะร่วมมือกับภาควิชาการในการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย หรือให้มีผลกระทบกับผู้ป่วยน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ก็จะร่วมกันสนับสนุนให้ประชาชนมีองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันโรค NCDs และจะได้ไม่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคอื่นๆ
ขณะที่ นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สปสช. มีสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาอย่างทันทีสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน ก็ยังร่วมกับหน่วยบริการทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชนในประเทศ เพื่อให้ประชาชน รวมถึงกลุ่มเสี่ยงได้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ผ่านกลไการจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการต่างๆ ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รวมถึงยังมีอีกหลายสิทธิประโยชน์ให้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัย คัดกรองโรคสำคัญต่างๆ ที่ครอบคลุมในระบบสุขภาพของอีก 2 คือ ระบบประกันสังคม และระบบสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ทำให้ภาพรวมเป็นการขับเคลื่อนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้กับคนไทยที่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ
"อย่างไรก็ตาม ในความท้าทายของการขับเคลื่อนเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ในแง่การดูแลสุขภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตสุขภาพของประชาชน และจะสะท้อนถึงอนาคตของระบบสุขภาพประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือจากหลายประเทศที่เจอปัญหาเดียวกัน ที่ประชุมร่วมกันในเวทีนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมกัน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนความรู้จากหลายภาคส่วน ทั้งผู้กำหนดนโยบาย บุคลากรการแพทย์ รวมไปถึงร่วมกันวิจัยหาเครื่องมือในการป้องกันโรค ที่จะสะท้อนมาถึงการลดอัตราเสียชีวิตของประชาชนได้" ผู้เชี่ยวชาญ สปสช. กล่าว
สำหรับการประชุมโรคหัวใจระดับเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Heart Summit) ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 16 และนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเวทีประชุมนี้จะมุ่งเน้นความสำคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือดที่บูรณาการเข้ากับนโยบายชาติ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล และการจัดหางบประมาณ เพื่อให้รับมือกับโรคหัวและหลอดเลือดในภูมิภาค เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยอย่างเท่าทียม มีประสิทธิภาพและยั่งยืน