ม.มหิดลคิดค้นนวัตกรรมชีวภาพ‘แบคทีเรียบำบัดโลหะหนัก’เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็น เชื้อไวรัส หรือ เชื้อแบคทีเรีย จะเป็น สิ่งอันตรายที่สุด หากเป็น เชื้อที่ก่อโรค หรือ เชื้อฉวยโอกาส” (Opportunistic Pathogen) ที่ก่อให้เกิดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมนุษย์และสัตว์ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง


ในทางกลับกัน มีแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในสิ่งแวดล้อมหลากหลายชนิด ที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไปช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนจากการได้รับสารมลพิษในสิ่งแวดล้อม


ศาสตราจารย์ ดร.เบญจภรณ์ ประภักดี อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สร้างสรรค์ นวัตกรรมชีวภาพแบคทีเรียบำบัดโลหะหนัก เพื่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก มหาวิทยาลัยมหิดล (งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) โดยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Journal of Environmental Technology and Innovation” เมื่อเร็วๆ นี้


จากการนำ แบคทีเรียไมโครคอคคัส” (Micrococcus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ไม่ก่อโรคมาผสมผสานกับ การปลูกพืชที่ไม่ได้นำมาเป็นอาหารอาทิ หญ้าแฝก และไม้ดอกไม้ประดับ เช่น บานชื่น และทานตะวัน เป็นต้น เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการบำบัดดินที่ปนเปื้อนโลหะหนักการฝังกลบขยะ


ซึ่งให้ผลที่ดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการช่วยลดการปนเปื้อนของโลหะหนักในดินจากการฝังกลบขยะ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการได้รับโลหะหนักของชุมชน และการปลูกพืชยังช่วยให้เกิดความร่มรื่น และสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ จากการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์  นวัตกรรมชีวภาพแบคทีเรียบำบัดโลหะหนักเพื่อนำไปใช้ร่วมกับการปลูกพืชไม้ดอกที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนได้ต่อไป


นวัตกรรมดังกล่าวสร้างขึ้นภายใต้หลักการทำเชื้อแบคทีเรียให้บริสุทธิ์ แล้วนำมาผสานกับวัสดุปลอดเชื้อ พร้อมทำให้แห้ง เพื่อเกิดเป็น หัวเชื้อพร้อมใช้ เพื่อให้สะดวกต่อการเก็บรักษาและใช้งาน กว่าการใช้ เชื้อสด ที่เก็บได้ไม่นานและต้องแช่เย็น


ตัวอย่างวัสดุที่สามารถนำมาใช้เตรียมเป็นหัวเชื้อพร้อมใช้ ได้แก่ ถ่านชีวภาพ ที่ได้จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรผ่านความร้อนสูง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังทำการพัฒนาให้มีลักษณะเป็น เม็ด คล้ายอาหารปลา เพื่อให้นำไปใช้งานได้คล่องตัวยิ่งขึ้น


จากการศึกษาพบว่า แบคทีเรีย ไมโครคอคคัส” (Micrococcus) สายพันธุ์นี้สามารถสร้างฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของพืช ในขณะที่แบคทีเรียที่มีประโยชน์อีกสายพันธุ์คือ อาร์โทรแบคเตอร์” (Arthrobacter) ที่สร้าง เมือก ที่สามารถไปจับกับโลหะหนักและดึงโลหะหนักออกจากดิน และช่วยส่งเสริมให้พืชทำหน้าที่ บำบัดสารปนเปื้อนตามธรรมชาติโดยรากพืชจะดูดเอาสารปนเปื้อนมาเก็บไว้เพื่อรอการกำจัดหลังการปรับปรุงดิน


โดยจะได้มีการสานต่อผ่านการเรียน การสอน และวิจัยของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการค้นพบ แบคทีเรียบำบัดโลหะหนัก ชนิดใหม่ๆ เพื่อขยายผลต่อไปในอนาคต


นับเป็นนวัตกรรมการใช้แบคทีเรียร่วมกับพืชเพื่อบำบัดสารปนเปื้อนในดิน ที่ในประเทศไทยยังคงมีไม่แพร่หลายเท่าที่ควร อีกทั้งเป็นวิธีการที่ปลอดภัย สามารถออกแบบให้มีการใช้งานได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้จุลินทรีย์ทั่วไปที่ไม่ทราบประสิทธิภาพและสายพันธุ์ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในคนและสัตว์ได้


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210