ม.มหิดลเผยเคล็ดลับเรียนวิทย์ให้ได้ผลเลิศ ‘รู้ใช้’ให้เกิดประโยชน์จริง

หากผู้เรียนวิชาเคมี สนใจแต่เรื่องผสมสารเคมีเพื่อรายงาน และท่องจำการเกิดปฏิกิริยา สิ่งที่ได้เมื่อเวลาผ่านไป อาจเป็นเพียงภาพความทรงจำบรรยากาศของห้องแล็บทั่วไป


แต่หากผู้เรียนศึกษาโดยใส่ใจถึงประโยชน์ของการนำไปใช้ สิ่งที่ได้ในภายหลังจะมีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่ได้สัมผัสตรงหน้าในชั้นเรียน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยานันต์ หงษ์ฟ้า อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์ผู้สอนวิชาที่ให้ได้มากกว่าการท่องจำตารางธาตุ ด้วยเทคนิคการสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถนำหลักการของวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันบนพื้นฐานของเหตุและผลได้


ตัวอย่างในชั้นเรียนเคมีที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยาการเหนี่ยวนำไฟฟ้าของน้ำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยานันต์ หงษ์ฟ้า สามารถอธิบายเหตุผลของการรับประทานเกลือ (โซเดียม) มากเกินไปส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงเพราะเกลือทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้มากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของความเข้มข้นของเกลือแร่ในเลือดเพื่อคงการเหนี่ยวนำไฟฟ้าของเลือดให้คงที่ ส่งผลให้ปริมาตรเลือดเพิ่มขึ้น


เมื่อปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น แต่ขนาดของเส้นเลือดยังคงเท่าเดิม จะทำให้เกิดแรงดันต่อผนังหลอดเลือดมากขึ้น เหมือนกับการพยายามบีบน้ำปริมาณมากผ่านท่อขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้เกิดแรงดันในท่อสูงขึ้นนั่นเอง


นอกจากผลงานการสอนวิชาเคมีในรูปแบบเฉพาะดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยานันต์ หงษ์ฟ้า ยังเคยมีผลงานวิจัยที่สร้างคุณประโยชน์ต่อ เคมีสีเขียว ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ “Energy and Fuels” ภายใต้หลักการ “Thermomorphic Biphasic System” ที่ใช้แยกชั้นของสารด้วยความร้อนมาประยุกต์ใช้กับน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจสามารถนำไปประยุกต์เพื่อการทำสารให้บริสุทธิ์ (Purify) นำไปทำเป็นไบโอดีเซลต่อไปได้


อย่างไรก็ดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยานันต์ หงษ์ฟ้า ได้กล่าวฝากทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด คือสิ่งที่ผ่านกระบวนการน้อยที่สุด นอกจากนี้ในการสอนไม่เคยหวังว่านักศึกษาที่เรียนวิทย์กับตนทุกราย จะต้องจบไปทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ทุกอาชีพสามารถยึดหลักวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ หากได้ทดลองและลงมือทำอย่างมีเหตุมีผลจนเกิดความชำนาญด้วยตัวเอง


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210