'สมศักดิ์' ปักธงภาคอีสานตอนบน นำ อสม.นับคาร์บ มุ่งเป้าลดการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้านโยบาย “คนไทยห่างไกล NCDs” ต่อเนื่อง ลงพื้นที่นำ อสม. 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบน เรียนรู้การนับคาร์บ ปรับพฤติกรรมการกิน “โปรตีนอย่าให้ขาด คาร์บอย่าให้เกิน เพิ่มเติมด้วยไขมันดี” มุ่งเป้าลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและประเทศ


วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2567) ที่มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
ครั้งที่ 2 โดยมีผู้บริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในเขตสุขภาพที่ 7 และ 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อสม. ร่วมงานรวม 3,300 คน


นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากป่วยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย และมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า จึงส่งเสริมให้ อสม. หมอคนที่ 1 ที่มีกว่า 1.07 ล้านคนทั่วประเทศ ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการกินแบบนับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล ซึ่ง อสม. 1 คน จะดูแลประชาชนประมาณ 50 คน ดังนั้น จะช่วยให้ประชาชนกว่า 50 ล้านคนกลับมามีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมและมีสุขภาพที่ดี ลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศได้
“เมื่อคำนวณหาปริมาณคาร์บเป็น จะช่วยให้เรากินอาหารได้ถูกสัดส่วน โดยโปรตีนอย่าให้ขาด คือ 1-2 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัมน้ำหนักตัว คาร์บอย่าให้เกิน คือ 5-20% ของพลังงานที่ใช้ต่อวัน และเพิ่มเติมด้วยไขมันดีอีก 60-70% ของพลังงานที่ใช้ต่อวัน ร่วมกับมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดการเกิดโรค NCDs ได้” นายสมศักดิ์กล่าว


ด้าน นพ.ภูวเดช กล่าวว่า จัดกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ดำเนินการในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน คือเขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) และเขตสุขภาพที่ 8 (เลย บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร) ซึ่งจากฐานข้อมูลปีงบประมาณ 2563 - 2567 พบว่า เขตสุขภาพที่ 7 มีอัตราป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ดีอยู่ที่ร้อยละ 31.55 ต่ำกว่าค่าเป้าหมายคือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ดี ร้อยละ 63.95 สูงกว่ากว่าค่าเป้าหมายคือไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 สำหรับเขตสุขภาพที่ 8 ในปี 2567 พบผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ 659.64 ต่อแสนประชากร ซึ่งสูงกว่าภาพรวมของประเทศ ผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลได้ดี อยู่ที่ร้อยละ 30.64 ส่วนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ 1,204.38 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่าภาพรวมของประเทศ ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตได้ดี อยู่ที่ร้อยละ 63.07 ซึ่งทุกพื้นที่จะร่วมกับขับเคลื่อนตามนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่อไป



10 พฤศจิกายน 2567