ทีมนิสิตจากสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศ จาก “BASF Young Voices for a Sustainable Future” โครงการนี้ริเริ่มระดับโลกโดย BASF ร่วมกับ Junior Achievement Worldwide (JA) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 โครงการนี้เป็นการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ผ่านโครงการความยั่งยืนซึ่งมีรากฐานจากผลกระทบต่อท้องถิ่นและการฟื้นตัวของสภาพอากาศ
ทีมจุฬาฯ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจาก Young Voices for a Sustainable Future ด้วยผลงาน “โครงการห่วงโซ่คุณค่าโกโก้บนฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในชุมชนเกษตร จ.น่าน” ประกอบด้วยสมาชิกดังนี้
ทีมนิสิตจุฬาฯ จำนวน 12 คน ได้แก่ คุณเกริกกนก เตละวานิช คุณเชฎฐพฤนท์ เลี้ยงถนอม คุณดนุพล เทพคุณ คุณพรกมน โสใหญ่ คุณเสริมพล ลิมป์กิจเจริญ คุณสุพิชชา วีรวงศ์ คุณศิริยากร ชุมขุน คุณจักรีนเรศ สุขใสแก้ว คุณปณาวัฒน์ พลีบัตร คุณวิชญ์ ธนวัฒนาเจริญ จากสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร คุณนนทพันธุ์ สิทธิโชติเลิศภักดี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคุณหทัยธนิต ธงทอง จากคณะนิเทศศาสตร์
โครงการนี้มี ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน และ อ.ดร.สุดลพ รัตนเกื้อกังวาน เป็นที่ปรึกษา ร่วมด้วยผู้ช่วยนักวิจัย ได้แก่ คุณศุภนิดา ทองปัน คุณอภิชญา ฝีปากเพราะ และคุณทอฝัน ก๋าคำ
โครงการในครั้งนี้มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมมากกว่า 117 คน จากมหาวิทยาลัย 8 แห่งในประเทศไทย มีการนำเสนอผลงานนวัตกรรม 13 ผลงาน โดย 3 ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายมีดังนี้
- โครงการ “Going Green Cacao” โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โครงการ “From Sea to Sustainability” โดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- โครงการ “Banana Shield” โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทีมที่ได้เข้ารอบสุดท้ายได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ BASF อำเภอบางปะกง จังหวัดชลบุรี เป็นเวลา 1 วัน เพื่อเรียนรู้ภาคปฏิบัติเกี่ยวกับความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเคมี ระหว่างการนำเสนอผลงาน แต่ละทีมก็ได้นำเสนอความคิด โดยแสดงวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์ในการส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย การนำเสนอโครงการของทีมจุฬาฯ โดดเด่นด้วยแนวทางการจัดการห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ในชุมชนเกษตร จ.น่าน บูรณาการกับฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยใช้การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ด้วยการเพาะปลูกอย่างยั่งยืนจากการเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่ถูกทิ้ง ได้แก่ การนำโกโก้ที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้เป็นอาหารสัตว์ที่อุดมไปด้วยสารอาหาร
ทีมนิสิตจุฬาฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนสนับสนุนและ BASF จะให้คำปรึกษากับโครงการเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อต่อยอดโครงการนี้ สนับสนุนการดำเนินการด้านการเกษตรที่ยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าให้กับผลโกโก้ที่ไม่ได้มาตรฐาน โครงการนี้จะถูกนำเสนอผ่านเว็บไซต์ JA Worldwide ซึ่งเป็นช่องทางที่จะเผยแพร่นวัตกรรมด้านความยั่งยืนของไทยให้ไปสู่ระดับโลก นอกจากนี้ทีมจุฬาฯ จะเป็นตัวแทนประเทศไทยแข่งขันในระดับนานาชาติร่วมกับผู้เข้าแข่งขันจากอีก 7 ประเทศ
ความสำเร็จนี้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของ BASF ในการส่งเสริมความสามารถของเยาวชนและผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบและขับเคลื่อนโดยเยาวชนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย