เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาของฤดูฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้หลายหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ประจำปีอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังมีความตื่นตัวจากองค์กรภาครัฐที่จับมือร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อมุ่งลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก
สำหรับประเทศไทยขณะนี้รัฐบาลได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 และเน้นย้ำทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกัน มุ่งลดจุดความร้อนให้ได้ตามเป้าหมายทั้งในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า และพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะกลุ่มพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย การพิจารณามาตรการไม่รับซื้อผลิตผลที่ใช้วิธีการเผาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องใช้กลไกความร่วมมือในทุกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเพื่อลดจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเชื่อว่าจะลดลงได้อย่างแน่นอน อีกทั้งการควบคุมฝุ่นในเมืองทั้งการตรวจจับและระงับการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐาน ตรวจกำกับโรงงานอย่างเข้มงวด และต้องมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งในภาวะปกติและเพิ่มความเข้มข้นในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการบัญชาการระดับจังหวัดและให้ข้อมูลเพื่อลดความตระหนักของพี่น้องประชาชน โดยตั้งเป้าหมายลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 จากปีที่ผ่านมา
ล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ มีความชัดเจนมากขึ้นในการเดินหน้าแก้ปัญหามลพิษของประเทศ โดยมีข้อพิจารณาเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1. ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิทินการปฏิบัติงานภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 อย่างเคร่งครัด 2. เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานที่มีความจำเป็นเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบกลาง ไปยังสำนักงบประมาณเป็นการเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อการดำเนินงานรับมือกับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ที่จะเกิดขึ้นในช่วง ม.ค. – พ.ค. 2568 3. แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่าและหมอกควันใน 14 กลุ่มป่า เป้าหมายเพื่อบัญชาการ เฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่าและหมอกควันแบบไร้รอยต่อเขตป่าหรือเขตปกครอง และบูรณาการความร่วมร่วมมือของชุมชนรอบป่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทหาร เน้นความปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย 4. แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาในเขตเมือง เช่น กำหนดรถเข้า-ออกรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองในช่วงวิกฤตฝุ่น รณรงค์เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองรถยนต์เพื่อลดฝุ่น ร่วมเป็นเครือข่าย Work From Home ลดการใช้รถยนต์มาใช้รถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น และ 5. แต่งตั้งคณะทำงานสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อเน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง สร้างความรู้ ความเข้าใจ โดยทั้งหมดนี้จะต้องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวด้วย
แม้ในภาพรวมจะเห็นการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างแข็งขัน แต่ในภาคประชาชนก็ต้องตื่นตัว เพื่อรับมือกับสภาวะหมอกควัน ไฟป่า หรือฝุ่น PM2.5 ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงดเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตรในที่โล่ง หรือ หากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมหน้ากากอนามัยป้องกันหมอกควันและฝุ่นละอองทุกครั้งที่ออกจากบ้าน นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถติดตามสถานการณ์ การเฝ้าระวัง การคาดการณ์ และการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศ จากศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) โดยติดตามได้ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมีการอัปเดตข้อมูลทุกวัน เพื่อให้ประชาชนได้ดำเนินกิจกรรมและเฝ้าระวังได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศได้รวดเร็ว หรือเลือกดูข้อมูลผลการตรวจวัดอากาศแบบรายชั่วโมงและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง รวมถึงดูย้อนหลังและดูการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าได้ 7 วัน ผ่านแอปพลิเคชัน Air4Thai ที่สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีทั้งในระบบ iOS Android และ AppGallery
ทั้งนี้ประชาชนยังสามารถร่วมกันเป็นหูเป็นตาเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนของตนเองได้ โดยหากพบเห็นปัญหามลพิษจากการเผา ไฟป่า หมอกควัน หรือรถควันดำ สามารถร้องเรียนได้ที่กรมควบคุมมลพิษ สายด่วน 1650 หรือ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1-16 รวมถึงศูนย์บริการร่วม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สายด่วน 1310 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล สายด่วน 1111 หรือที่ ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 หรือหากพบเห็นในเขตกรุงเทพมหานครแจ้งได้ทันทีที่ Traffy Fondue หรือสายด่วน 1555 เพราะมลพิษไม่ใช่เรื่องของใคร แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน