วว. คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2568 ประเภทวิทยานิพนธ์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช / วิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรม

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (อว.)  ได้รับ “รางวัลการวิจัยแห่งชาติ” ประจำปีงบประมาณ 2568  และประกาศนียบัตร "รางวัลผลงานคุณภาพ NRCT Quality Achievement Award" จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  จำนวน  2  ผลงาน  ดังนี้


           1) ประเภทวิทยานิพนธ์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช  ได้แก่ ดร.สิทธิพงศ์ สรเดช นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) จากผลงาน “โพลิเอทิลเลนิมีนเชิงเส้นและอนุพันธ์เพื่อเป็นวัสดุชีวภาพ (Biomaterials) และสารช่วย (Excipients) ที่มีศักยภาพสำหรับการนำส่งยา” (Linear Polyethyleneimine and Derivatives as Potential Biomaterials and Excipients for Drug Delivery)


            2) ประเภทวิทยานิพนธ์  สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย  ได้แก่   ดร.วรวัฒน์ ทรงกิตติ  นักวิชาการ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) จากผลงาน "Investigation of On-Road Particulate Matter Characteristics  from Brake Wear Mechanisms"  ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ลักษณะและปัจจัยที่มีผลต่อการปล่อยอนุภาคในละอองจากการเบรกยานยนต์ในสภาพการขับขี่จริง โดยใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่างแบบไอโซคิเนติก (Isokinetic Sampling) ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวัดค่าอนุภาค พร้อมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบจากอุณหภูมิการเบรกและปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อปริมาณฝุ่นละออง


โดยในประจำปีงบประมาณ 2568 มีนักวิจัยได้รับรางวัลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จำนวน 180 ราย ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่น จำนวน 13 ราย รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 53 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 52 รางวัล และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 62 รางวัล  สำหรับผู้ได้รับรางวัลจะเข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 


ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบรางวัลดังกล่าว เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่มีสัญชาติไทย มีผลงานวิจัยดีเด่น ที่แสดงถึงความคิดริเริ่มและเป็นผลงานวิจัย ที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยผลงานวิจัยสร้างคุณูปการและเกิดประโยชน์ในวงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงชุมชน สังคม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการ และสมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่นได้ ทั้งมีการปฏิบัติตนที่ไม่ขัดต่อจรรยาบรรณของนักวิจัยตามแนวทางที่ วช.กำหนดไว้