นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา มอบรางวัลเชิดชูเกียรติเมืองสุขภาพดีระดับประเทศ และรางวัลเครือข่ายเมืองสุขภาพดีระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (SEAR) ร่วมกับแพทย์หญิงโอลิเวียนีเวอราส ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย พร้อมทั้งเปิดจุดบริการน้ำประปาสะอาดดื่มได้ และทีม SEhRT เขตสุขภาพที่ 12 โดยมี คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมลงพื้นที่
นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นประธานกิจกรรมเชิดชูเกียรติเครือข่ายเมืองสุขภาพดี และมอบโล่เชิดชูเกียรติเมืองสุขภาพดี ณ ห้องประชุมศูนย์การเรียนรู้สู่อาเซียน เทศบาลเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ขับเคลื่อนภารกิจส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัย สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการเมืองสุขภาพดี โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานยกระดับสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ซึ่งในปี 2567 ประเทศไทยได้รับรางวัลเครือข่ายเมืองสุขภาพดี (SEAR) ระดับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกขององค์การอนามัยโลกจำนวน 4 เมือง จากทั้งหมด 11 เมือง โดยเทศบาลเมืองสะเดา เป็น 1 ใน 4 เมืองที่ได้รับรางวัลดังกล่าว พร้อมกันนี้ ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ขับเคลื่อนอำเภอน้ำประปาสะอาด เปิดพื้นที่จุดบริการ “น้ำประปาสะอาดดื่มได้” โดยกล่าวว่า โครงการน้ำประปาดื่มได้ ได้ดำเนินการมายาวนานถึง 25 ปี ภายใต้การรับรองคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านการรับรองคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ เพียง 21 แห่ง ซึ่งเทศบาลตำบลปริกเป็นแห่งที่ 22 และเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขานรับนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในประเด็น “น้ำสะอาดฟรี ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน” เป็นต้นแบบที่ดี ที่จะขยายผลสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางไปเปิดกิจกรรมรณรงค์ขับเคลื่อนทีมปฏิบัติการ SEhRT เขตสุขภาพที่ 12 ณ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมเปิดเผยว่า การดำเนินงานเพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ได้สร้างกำลังคน พัฒนาระบบ และกลไกการปฏิบัติภารกิจของทีม SEhRT และสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น ทั้งวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับทีมปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปฏิบัติการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในภาวะฉุกเฉินสามารถรองรับการให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างครอบคลุม และสร้างเครือข่ายทีม SEhRT ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ การจัดงานกิจกรรมรณรงค์เปิดปฏิบัติการทีม SEhRT ในครั้งนี้ ได้ทำการฝึกอบรม เพิ่มทักษะ และขีดความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่ทีม SEhRT ทุกระดับในพื้นที่จังหวัดสงขลาในฐานะพื้นที่นำร่อง ให้สามารถจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม การสุขาภิบาล และดูแลปกป้องคุ้มครองสุขภาพของพี่น้องประชาชน ในจังหวัดสงขลาได้อย่างครอบคลุม มากกว่า 1 ล้านคน
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติ สาธารณภัย และภาวะฉุกเฉินที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งโรคระบาด โรคอุบัติใหม่ อุทกภัย ภัยร้อน ภัยแล้ง ไฟไหม้ ฝุ่นละออง PM2.5 รวมถึงภัยจากสารเคมีรั่วไหล ระเบิด ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วย บาดเจ็บ และเสียชีวิต จากข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของกรมอนามัย เดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 พบเหตุภัยพิบัติมากกว่า 700 พื้นที่ มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 160,000 ครัวเรือน และกระทบสุขภาพประชาชนกว่า 1 ล้านคน กรมอนามัยจึงมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการปฏิบัติการของทีม SEhRT ระดับศูนย์อนามัยที่มีความพร้อมลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงของประชาชน โดยเน้นการสำรวจ ประเมิน เฝ้าระวังความเสี่ยงจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
“สำหรับ การดำเนินงาน 3C อำเภอน้ำประปาสะอาด เป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องจัดหาน้ำดื่มที่สะอาดและเพียงพอให้กับประชาชน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ สำหรับประเทศไทย กำหนดเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีกรมอนามัยขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพน้ำบริโภคเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐานทุกแหล่งผลิต โดยเฉพาะน้ำประปาหมู่บ้านที่มีมากถึง 69,028 แห่ง และส่วนมากก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร การจัดการคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐานเป็นภารกิจที่สำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ภายใต้แนวคิดน้ำประปาหมู่บ้านสะอาดด้วยหลักการ 3C Clear Clean Chlorine สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัด โดยอาศัยความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการบริหารกิจการและดูแลรักษาระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐานทัดเทียมน้ำประปาในเขตเมือง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว