“คลินิกทันตกรรม ซี สไมล์พลัส” เสริมทัพ 30 บาทรักษาทุกที่ ดูแลสิทธิบัตรทอง รอทำฟันไม่เกิน 30 นาที

“คลินิกทันตกรรม ซี สไมล์พลัส” เสริมทัพบริการทันตกรรม 30 บาทรักษาทุกที่ เผยหลังเข้าร่วม มีประชาชนเข้ารับบริการเพิ่ม 25% พร้อมปรับระบบใหม่ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอนานเกิน 30 นาที แถมเชิญชวนคลินิกทันตกรรมในจังหวัดร่วมให้บริการ ล่าสุดมีคลินิกทันตกรรมใน จ.ลำพูน ร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมแล้ว 12 แห่ง   


 


        ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.วิวัฒน์ ฉัตรวงศ์วาน กรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ 11 น.ส.จินตนา สันถวเมตต์ รักษาการผู้อำนวยการ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ และ ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา ผู้อำนวยการกลุ่ม สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ รวมถึงคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมคลินิกทันตกรรม ซี สไมล์พลัส อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยมี ทพ.เอกภาพ พัทยาวรรณ เจ้าของคลินิกทันตกรรม ซี สไมล์พลัส ให้ข้อมูลบริการ


พร้อมกันนี้คณะตรวจเยี่ยมฯ ยังได้ลงพื้นที่ คลินิกทันตกรรมพร้อมพลัส คลินิกทันตกรรมเล็ทสไมล์ และคลินิกทันตกรรมสบายสไมล์ เพื่อตรวจเยี่ยม และติดตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อแสดงให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) รับทราบว่าเป็นคลินิกทันตกรรมที่ร่วมให้บริการ

ทพ.เอกภาพ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม 30 บาทรักษาทุกที่ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2567 โดยมีประชาชาชนสิทธิบัตรทอง เข้ามารับบริการจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้มารับบริการที่คลินิกทันตกรรมเพิ่มขึ้น 25% จากเดิม ดังนั้นทางคลินิกทันตกรรมจึงได้ทำการเพิ่มทันตแพทย์ และพนักงานผู้ช่วยทันตแพทย์เพื่อให้เพียงพอรองรับการบริการ


        นอกจากนี้ คลินิกทันตกรรมซี สไมล์พลัส ได้พัฒนานวัตกรรมการบริการขึ้นมา ซึ่งเป็นระบบที่จับเวลารอคอยการเข้ารับบริการของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ หากเกินกว่า 30 นาที ระบบจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ เพื่อให้จัดคิวการรับบริการให้คล่องตัวและไม่ให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน และให้เตรียมห้องทันตกรรมที่พร้อมเพื่อเข้ารับบริการในทันที พร้อมกันนี้ยังได้ชักชวนคลินิกทันตกรรมใน จ.ลำพูน ให้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมเพื่อดูแลประชาชนร่วมกัน ทำให้ขณะนี้มีคลินิกทันตกรรมใน จ.ลำพูน ที่เข้าร่วมให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ เพิ่มเป็น 12 แห่งแล้ว ซึ่งจากการสอบถามระหว่างกันก็พบว่าเพียงพอต่อการให้บริการกับประชาชนใน จ.ลำพูน


        อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าในช่วงแรกของการเข้าร่วมให้บริการ การเบิกจ่ายชดเชยอาจมีความไม่คล่องตัวและมีอุปสรรค โดยเพาะการบันทึกข้อมูลการให้บริการในระบบ แต่หลังจากเรียนรู้กับระบบการเบิกจ่ายของโครงการนี้ ก็ไม่มีปัญหา การเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการก็ราบรื่น ทำให้คลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมมีสภาพคล่อง


        "อนาคตอยากให้มีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยเฉพาะบริการทันตกรรมให้กับประชาชนสิทธิบัตรทอง รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากให้มากขึ้น หรือเพิ่มจำนวนครั้งการรับบริการที่คลินิกทันตกรรมมากขึ้น จากปัจจุบันที่ให้สิทธิรับบริการ 3 ครั้งต่อคนต่อปี เพื่อสุขภาพช่องปากของประชาชน" เจ้าของคลินิกทันตกรรมซีสไมล์พลัส กล่าว


        ทพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ทันตแพทยสภาจะมีการกำกับและติดตามคุณภาพ มาตรฐานการให้บริการของคลินิกทันตกรรมที่ร่วมให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ ในรายการกำหนด คือ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบฟลูออไรด์ และเคลือบหลุ่มร่องฟัน โดยเน้นความปลอดภัยของประชาชนที่มารับบริการ การบันทึกข้อมูลการให้บริการ และการสื่อสารกับผู้ป่วยที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากที่คลินิกทันตกรรมเข้าร่วมต้องดำเนินการตาม อย่างไรก็ตาม 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นนโยบายที่อาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน แต่บทบาทของทันตแพทยสภาจะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเชิงรุกให้ความรู้กับคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะมาตรฐาน คุณภาพการให้บริการ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเบิกจ่ายกับ สปสช. เพื่อให้คลินิกทันตกรรมเบิกจ่ายอย่างถูกต้อง ป้องกันข้อผิดพลาด ส่งผลให้การดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


"ที่ผ่านมาการเข้าถึงบริการทำฟันของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 8-10% เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่สามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้ถึง 90% แต่ทั้งนี้ หลังจากมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ และมีสิทธิประโยชน์ทันตกรรมเป็น 1 ใน 7 นวัตกรรมบริการใหม่ ก็ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ก็อยากให้มีคลินิกทันตกรรมเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เพื่อที่ประชาชนจะได้เข้าถึงบริการได้มากตามไปด้วย" กรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ 11 กล่าว 


        ทพ.อรรถพร กล่าวว่า บริการทันตกรรมภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่หน่วยบริการนวัตกรรมคลินิกทันตกรรมมี 5 รายการ  โดยประชาชนเข้ารับบริการได้ 3 ครั้งต่อคนต่อปี ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเข้ารับบริการทันตกรรมแล้ว 1.8 แสนคน หรือเฉลี่ยน 1.8 ครั้งต่อคน ในพื้นที่ 46 จังหวัดที่เดินหน้านโยบาย อย่างไรก็ตาม สปสช. ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนว่าผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจะต้องไปรับบริการที่คลินิกทันตกรรมมากขึ้น เพราะในช่วงปีแรกของโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ สปสช. มุ่งเน้นให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากได้เข้าถึงบริการทันตกรรมที่สะดวกมากขึ้น โดยสามารถไปรับบริการจากคลินิกภาคเอกชนได้เหมือนกับไปรับบริการที่โรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งตรงกับเป้าหมายที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางทันตกรรมได้สะดวก


        "ในส่วน 31 จังหวัดที่เหลือในการดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ ขณะนี้มีคลินิกทันตกรรมจากภาคเอกชนสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับ สปสช. ที่ต้องการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบให้มากขึ้นเช่นกัน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว