สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์แนะการฉีดฟิลเลอร์อย่างไรไม่ให้หน้าพัง เนื่องจากการฉีดฟีลเลอร์ คือการฉีดสารเติมเต็มให้แก่ผิวหนัง ช่วยแก้ใช้ปัญหาผิว ริ้วรอยร่องลึก บริเวณต่างๆของใบหน้า ให้กลับมาดูอ่อนเยาว์ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด รวมถึงควรทราบข้อควรปฏิบัติและข้อแนะนำก่อนและหลัง การฉีดฟิลเลอร์ที่ถูกวิธีเพื่อลดการเกิดความผิดปกติหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนฉีด
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า สิ่งที่ควรทราบก่อนการฉีดฟิลเลอร์ คือ 1. ตรวจสอบร่างกายเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่ถูกวิธีและเหมาะสม 2. หากมีโรคประจำตัว มียาหรือวิตามินที่ต้องรับประทานประจำควรแจ้งแพทย์ก่อนฉีดทุกครั้ง 3.ตรวจสอบยี่ห้อและชนิดของฟิลเลอร์ที่มีมาตรฐาน เพื่อตรวจสอบจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าได้ผ่านสำนักคณะกรรมการอาหารและยา 4. เลือกสถานพยาบาลหรือคลินิกที่ได้มาตรฐาน 5. ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแพทย์ที่ทำการฉีด โดยการฉีดสารเติมเต็มนั้น ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้ คือ ประมาณ 2 สัปดาห์หลังฉีด เช่น มีอาการบวมแดง หรือคลำได้ก้อนตำแหน่งที่ทำการฉีด ตามมาทีหลังสุดอาจจะนานเป็นปี เช่น มีการคลำได้ก้อน ร่วมกับการอักเสบเป็นๆหายๆ หรือการเคลื่อนตำแหน่งของสารเติมเต็มที่เคยฉีดรักษา
นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สามารถแบ่งสารเติมเต็มได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1.ประเภทชั่วคราว จะเป็นสารเติมเต็มกลุ่มของไฮยาลูรอนิค แอซิด (Hyaluronic Acid) หรือ (HA) ซึ่งอยู่ได้ระยะเวลาประมาณหนึ่งถึงสองปี 2.ประเภทกึ่งถาวร อยู่ได้ระยะเวลายาวนานเป็นสิบปี ส่วนใหญ่วิธีนี้จะไม่ค่อยแนะนำเนื่องจากอันตราย และไม่สามารถสลายเองได้ตามธรรมชาติเหมือน กลุ่มไฮยาลูรอนิค แอซิด โดยสิ่งที่เราควรสังเกตหลังฉีดฟิลเลอร์เสร็จ คือ การเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือความ ผิดปกติบริเวณที่ทำการฉีดได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีฟิลเลอร์ไหล เกิดจากเทคนิคการฉีดไม่ถูกตำแหน่ง หรือการเลือกใช้ตัวของผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสมและไม่ได้มาตรฐาน เกิดการติดเชื้อขึ้น มีการอักเสบเป็นๆหายๆเรื้อรัง ทำให้ ผิวหนังบริเวณนั้นมีการบวมหนาผิดรูปไปข้อแนะนำหลังฉีดฟิลเลอร์ คือ 1.ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ เลี่ยงแสงแดดเเละความร้อน 2. ควรงดการทำหัตถการบริเวณใบหน้า เช่น นวดหน้าหรือการใช้เครื่องมือในการนวดบำรุงอื่นๆ หรือรับการรักษาด้วยลำแสง Light Emitting Diode (LED) หรือ Intense Pulse Light (IPL) หรือ Laser อย่างน้อย 4 สัปดาห์ 3. สังเกตความผิดปกติบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะตำแหน่งที่ทำ 4. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
แพทย์หญิงศศธร สิงห์ทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมปริมาณสารเติมเต็มที่ใช้ในแต่ละครั้ง ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรใช้ปริมาณที่เยอะมากเกินไปในแต่ครั้ง และเนื่องจากการฉีดสารเติมเต็ม สามารถทยอยเติมทีละน้อยๆได้ ดังนั้นแนะนำให้เติมครั้งละน้อยๆก่อน แล้วรอให้สารเติมเต็มเข้าที่ อาจจะประมาณ 2-4 อาทิตย์ แต่ถ้ายังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ สามารถเติมเพิ่มได้ เนื่องจากแต่ละตำแหน่งของร่างกายมีเนื้อเยื่อ และลักษณะการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน ดังนั้นแต่ละตำแหน่งที่ทำการรักษา ควรต้องใช้สารเติมเต็มที่เนื้อผลิตภัณฑ์แตกต่างกันในแต่ละจุด เพื่อให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด หากตำแหน่งที่ฉีดฟิลเลอร์มีอาการชา บวม แดง รู้สึกเจ็บหรือปวดเกินไปจนสีของผิวหนังเปลี่ยน แนะนำควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที