รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธีสวดพระอภิธรรม และพิธีพระราชทานเพลิงศพแก่ผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา (เป็นกรณีพิเศษ) ประจำปีการศึกษา 2566 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาและไว้อาลัยแด่ผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาหรืออาจารย์ใหญ่ของนิสิตแพทย์ โดยมี คณาจารย์ แพทย์ นิสิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 300 คน รวมถึงญาติของอาจารย์ใหญ่เข้าร่วมพิธี โดยก่อนหน้านี้ได้จัดพิธีบวงสรวง บรรจุร่าง และขอขมาผู้อุทิศร่างกาย “อาจารย์ใหญ่” จำนวน 250 ร่าง ซึ่งหลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพแล้วจะได้นำร่างของอาจารย์ใหญ่แยกฌาปนกิจตามวัดต่าง ๆ จำนวน 5 วัด ได้แก่ วัดเทวสุนทร วัดสุทธิวราราม วัดบางนานอก วัดบำเพ็ญเหนือ วัดประดู่ธรรมาธิปัตย์ และวัดลาดปลาเค้า แล้วจึงทำพิธีลอยอังคารต่อไป
.
อาจารย์ใหญ่” คือ ร่างกายของมนุษย์ ผู้ซึ่งแสดงเจตจำนงไว้อย่างชัดเจนในการบริจาคร่างกายเป็นกายวิทยาทานก่อนเสียชีวิต เพื่อให้นิสิตแพทย์ได้ใช้ร่างกายในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ดีที่สุดที่ไม่สามารถจะหาสื่อการสอนใด ๆ มาทดแทนได้ เนื่องจากเป็นการศึกษาจากของจริงซึ่งสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติและประสบการณ์จริงจากร่างกายของ #อาจารย์ใหญ่ โดยตรง เพราะนอกจากการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีโดยการอ่านตำราและเข้าฟังการบรรยายของอาจารย์ในห้องเรียนแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ภาคปฏิบัติจากร่างกายมนุษย์จริงผ่านการชำแหละ และศึกษาโครงสร้างที่สลับซับซ้อนอย่างละเอียดของมนุษย์ และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยในอนาคต
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับความรู้อย่างมากมายจาก “อาจารย์ใหญ่” จึงให้ความเคารพยกย่องและเชิดชูเกียรติที่ท่านได้สละร่างกายให้นิสิตแพทย์ได้ศึกษา เปรียบเสมือนอาจารย์ที่ให้ความรู้ด้านการแพทย์โดยใช้ร่างกายแทนคำพูด สร้างแพทย์ให้มีความเชี่ยวชาญก่อประโยชน์แก่สังคมไทยและสังคมโลก จึงถือได้ว่า “อาจารย์ใหญ่” เป็นการทำกุศลครั้งสุดท้ายหลังเสียชีวิต ที่สร้างคุณประโยชน์ให้วงการแพทย์อย่างแท้จริง” ซึ่งการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ช่วยให้การแพทย์ไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดด เพราะนอกจากเป็นการเรียนรู้พื้นฐานทางกายวิภาคศาสตร์ของนิสิตแพทย์ ผู้อุทิศร่างกายยังเป็นครูผู้ให้การฝึกอบรมทักษะการช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือการผ่าตัดขั้นสูง ซึ่งในแต่ละปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเป็นต้องใช้ร่าง #อาจารย์ใหญ่มากกว่า 250 – 300 ท่าน โดยร่างของผู้บริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา จะได้รับการทำพิธีทางศาสนาหลังผ่านการเป็น #อาจารย์ใหญ่ ด้วยพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ
.
ผู้มีความประสงค์จะ #อุทิศร่างกาย เพื่อการศึกษาเมื่อถึงแก่กรรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและแสดงความจำนงบริจาคร่างกายได้ที่ ศาลาทินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ #สภากาชาดไทย หรือบริจาคออนไลน์ได้ที่ www.redcross.or.th
.
ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมสร้างกุศล โดยบริจาคเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี กองทุนสภากาชาดไทยเพื่อการบริจาค เลขที่บัญชี 045-2-88000-6 เพื่อสมทบ “เงินฝากเพื่อพัฒนาอาจารย์ใหญ่” หมายเลขบัญชี 4300071 และบัญชี มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขที่บัญชี 045-2-02069-8 สอบถามโทร. 0 2256 4281, 0 2256 4628 และ 1664 ในวันและเวลาราชการ