กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดหลักสูตร ฝึกอบรมการประสานงานระหว่างประเทศด้านการจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ และ ซักซ้อมการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 6 ในปี 2568
วันนี้ (18 ธันวาคม 2567) ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรการประสานงานระหว่างประเทศการจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ (Thailand Co-ordination course for International Assistance and Disaster Health Management) หรือ C – Course โดยมี ผู้แทนจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร ศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และทีมที่ปรึกษาการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน และกรม/กองในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับการอบรมรวม 133 คน
นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า ทุกประเทศให้ความสำคัญกับกลไกการสร้างความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติ ปัญหาและภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต้องสร้างแนวปฏิบัติร่วมกัน ทั้งความร่วมมือด้านวิชาการ กำลังคน ทรัพยากร ในการเตรียมความพร้อมตอบโต้และรับมือ กับภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงพัฒนาและสร้างขีดความสามารถของแต่ละประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มุ่งพัฒนาขีดความสามารถด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ และมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหลักสูตร (Thailand Co-ordination course for International Assistance and Disaster Health Management) หรือ C – Course กองสาธารณสุขฉุกเฉิน และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ในการบริหารจัดการ ประสานงาน การรับ-ส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระหว่างประเทศ ให้มีความพร้อมและเข้าใจในบริบทของประเทศตนเอง เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะภัยพิบัติ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 6 ในวันที่ 7 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน (Regional Collaboration Drill: RCD) เป็น 1 ในกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการฯ ของอาเซียน ซึ่งบุคลากรที่เข้าร่วมฝึกซ้อมจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้านการประสานงานทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติระหว่างประเทศภายใต้กลไกของของภูมิภาคอาเซียน เพื่อการประสานงานระหว่างหน่วยงานด้านการรับ – ส่งทีมปฏิบัติการ และการสนับสนุนหรือรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศของภัยระดับ 3 - 4 และภัยระหว่างประเทศ
18 ธันวาคม 2567