คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวโครงการ 72 ข้อเทียมเทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า – ข้อสะโพก ให้ผู้ป่วย 72 ข้อเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยข้อเสื่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์จัดงานแถลงข่าว “ศิริราชผนึก 3 โรงพยาบาลร่วมจัดโครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา” ช่วยผู้ป่วยข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อมให้ได้รับการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก หรือศิริราช-กาญจนา โดยมี ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด นพ.นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และหัวหน้าแผนกศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ และ รศ.นพ.จตุรงค์ พรรัตนมณีวงศ์ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์บูรณสภาพ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยข้อเสื่อม และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เผยว่า ภาวะข้อเสื่อมเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุของไทยเกิดภาวะทุพพลภาพ โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ในปี 2561 มีคนไทยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมสูงกว่า 6 ล้านคน เนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น กระดูกอ่อน น้ำไขข้อ ฯลฯ ซึ่งกลุ่มเสี่ยง 80-90% ที่จะเกิดภาวะนี้คือผู้สูงอายุ สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ เกษตรกร รวมถึงผู้ใช้แรงงานที่ต้องยกของหนัก การผ่าตัดรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเทียมมีราคาที่ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000–70,000 บาทต่อหนึ่งข้อ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่รับการรักษา
ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่าเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมจัดโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม 72 ข้อ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในโครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา ที่มีปัญหาข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อม ได้รับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ที่ทันสมัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน เป็นแหล่งฝึกอบรมของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มาอย่างยาวนาน สร้างต้นแบบการรักษาทางการแพทย์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงต้นแบบการรักษาเฉพาะโรค มุ่งเน้นการรักษาและบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยบูรณาการความเป็นเลิศทางวิชาการจากบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขา ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช มุ่งสู่การให้บริการด้วย “Best Health Value” สร้างความมั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับบริการทางการแพทย์ได้มาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นการรักษาแบบองค์รวม คำนึงทั้งการรักษาทางกาย จิตใจ และสังคมของผู้ป่วย พร้อมสร้างสังคมที่มีคุณภาพและแบ่งปันโอกาสให้กับทุกคน ดังนั้น โครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา จึงเกิดขึ้นตามพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และด้วยความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เป็นอีกหนึ่งโครงการที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาข้อเสื่อมมาร่วมกันทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนคนไทย อีกทั้งเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งอีกด้วย
ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า เป้าหมายของโรงพยาบาลศิริราช คือ การก้าวสู่ต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โรงพยาบาลศิริราชจึงดำเนินการขับเคลื่อนด้านการให้บริการทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสากล โดยนำความอัจฉริยะของเทคโนโลยีต่าง ๆ มาพัฒนาระบบการให้บริการทั้งด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล บูรณาการร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช (SiCOE) ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะโรคหัตถการ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยศูนย์ความเป็นเลิศผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมศิริราช (Si-ELITE) เป็น 1 ในศูนย์ SiCOE ที่ดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ครอบคลุมทั้งงานบริการ การศึกษา การวิจัย โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผ่าตัด นั่นก็คือ การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มาใช้กับผู้ป่วยทุกระดับภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยผ่าตัดภายใต้การควบคุมของศัลยแพทย์ เรียกได้ว่าเป็นการผ่าตัดโดยแพทย์ผ่าตัดแต่มีผู้ช่วยที่เป็นหุ่นยนต์ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขอาการปวดข้อเข่าและข้อสะโพก ขาโก่งผิดรูป ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน การติดขัดเหยียดงอที่เกิดจากความเสื่อมของข้อได้จากทุกความผิดปกติ ตั้งแต่ข้อเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น อุบัติเหตุ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทั้งนี้ข้อดีของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด คือ มีความแม่นยำ มีความปลอดภัยสูง แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการบาดเจ็บ ฉีกขาดของเนื้อเยื่อ และเส้นเอ็นรอบข้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระยะเวลาผ่าตัดเพียง 1-2 ชั่วโมง นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 3-4 วัน ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หลังจากนั้นแพทย์นัดติดตามอาการ 1-3 เดือน หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยแต่ละราย
รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กล่าวถึงความพร้อมของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กับโครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา ตลอดการดำเนินงาน 18 ปีที่ผ่านมา ศูนย์การแพทย์ฯ ได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น พร้อมจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย พัฒนาความสามารถของบุคลากรในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การรักษาที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จึงมีมาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้ เรายังเป็นสถานที่ฝึกเรียนของศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ มีโอกาสใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดเข่าส่งผลให้ผู้ป่วยข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมในแถบปริมณฑล และนครปฐมได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามารักษาในโรงพยาบาลศิริราช
ด้าน ศ.นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุลผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการครั้งนี้ว่า การผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นการผ่าตัดที่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญจากทีมสหสาขาในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ มีความพร้อมทั้งบุคลากร องค์ความรู้ และเครื่องมือการรักษาที่ทันสมัย ซึ่งในโครงการโครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเข้ารับการผ่าตัดที่ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ในมาตรฐานการรักษาระดับสากล โดยใช้การส่งต่อผู้ป่วยระหว่าง 3 โรงพยาบาล หลังจากนั้นจึงส่งตัวกลับไปพักรักษาตัว ในโรงพยาบาลต้นสังกัดตามเดิม ทำให้ผู้ป่วยที่มีสิทธิ์การรักษาของแต่ละโรงพยาบาล สามารถใช้สิทธิ์การรักษา และเสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์การรักษาได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นการแสดงจุดยืนและตอกย้ำการให้บริการด้วยความเป็นเลิศของโรงพยาบาลภายใต้สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
นพ.นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และหัวหน้าแผนกหน่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 โรงพยาบาลในโครงการ โครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกด้วยหุ่นยนต์ในผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย รักษาแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย (ครอบคลุมสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจที่เบิกได้ สิทธิสังคมสงเคราะห์) โดยผู้ป่วยที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 72 ราย จะต้องเป็นผู้ป่วยจากหน่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และโรงพยาบาลศิริราช โดยหลังจากผู้ป่วยสมัครเข้าโครงการ ทางโรงพยาบาลจะต้องตรวจสุขภาพคนไข้ ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่าตัดได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยข้อเสื่อมบางคนมีข้อจำกัด และโรคประจำตัว หรือโรคร่วมอื่นๆ ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เป็นต้น โดยเริ่มรับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ โรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์คนไข้ที่สามารถทำการผ่าตัดได้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ และข้อบ่งชี้ถึงความปลอดภัยของคนไข้เท่านั้น
กล่าวได้ว่า โครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีส่วนขับเคลื่อนการทำงานและยกระดับการให้บริการศูนย์ความเป็นเลิศการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด พร้อมด้วยศักยภาพของทีมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประสานการทำงานระหว่าง 3 โรงพยาบาลรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้บริการผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพสูงสุดได้อย่างปลอดภัยและทั่วถึง รวมไปถึงการส่งต่อข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพระหว่างโรงพยาบาลเครือข่าย ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ป่วยข้อเข่าและข้อสะโพกที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยตรวจโรคออร์โธปิดิคส์ ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศิริราช โทร. 02-419-7968 และศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ศิริราช-กาญจนา โทร. 02-849-6600 ต่อ 2161, 2324 ในวันและเวลาราชการ เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป