สธ. ขยายผล 'ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล' แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับลูกนายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนนโยบายบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ขยายผล “ธวัชบุรีโมเดล-ท่าวังผาโมเดล” ต้นแบบแก้ไขปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด ตั้งเป้าขยาย“มินิธัญญารักษ์” รองรับบริการบำบัดรักษา 1 หมื่นคนต่อปี ขยายชุมชนล้อมรักษ์ครอบคลุม 878 อำเภอทั่วประเทศ พร้อมเปิดตัวแอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยวางแผนการบำบัดรักษา ติดตามดูแลผู้ป่วย และนัดหมายออนไลน์ เข้าถึงบริการง่ายขึ้น


วันนี้ (23 ธันวาคม 2567) ที่ อาคารเดอะพอร์ทอล เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชันล้อมรักษ์ และมอบรางวัล “ธวัชบุรีโมเดล และ ท่าวังผาโมเดล” พื้นที่ตัวอย่างในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งมีการจัดทำเป็นคู่มือแนวทางมอบให้แก่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ภาคีเครือข่าย และผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดจากทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม 497 คน


นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นภัยร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย สุขภาพ คุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเน้นดำเนินการครบวงจรในสามมิติหลัก คือ การปราบปราม การบำบัดรักษา และการคืนคนดีสู่สังคม ที่ผ่านมา มีพื้นที่ที่ดำเนินการได้อย่างดี เช่น ธวัชบุรีโมเดล จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแนวทางต้นแบบของรัฐบาล และท่าวังผาโมเดล จังหวัดน่าน โดยเป็นการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร เป็นระบบ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เน้นให้ความสำคัญกับทุกคนในชุมชน จนสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ ซึ่ง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมและสั่งการให้นำมาปรับใช้ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุทัยธานี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ สกลนคร นครพนม ระยอง นครศรีธรรมราช ตรัง และนราธิวาส เนื่องจากมีปัญหายาเสพติดแตกต่างกัน ทั้งด้านความรุนแรงและลักษณะเฉพาะของพื้นที่ รวมถึงมีชุมชนที่เข้มแข็งพร้อมร่วมมือกับภาครัฐ จากนั้นจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด โดยพัฒนาระบบบริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตบำบัด เพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาผ่านมินิธัญญารักษ์ และขยายผลรูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) หรือชุมชนล้อมรักษ์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 มีผู้เข้ารับการบำบัดทั้งสิ้น 260,000 ราย สำหรับปีงบประมาณ 2568 เปิดให้บริการมินิธัญญารักษ์ 209 แห่ง ตั้งเป้ารองรับผู้เข้ารับการบำบัดได้กว่า 10,000 รายต่อปี และจะขยายชุมชนล้อมรักษ์ให้ครอบคลุม 878 อำเภอทั่วประเทศ รวมถึงเน้นการป้องกันเชิงรุกด้วยการให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันในเยาวชน และส่งเสริมการบำบัดที่ครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจ และในวันนี้ยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชันล้อมรักษ์ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ ติดตามดูแลผู้ป่วยยาเสพติดได้แบบครบวงจร ลดภาระงานเอกสาร และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน วางแผนการรักษาได้แม่นยำยิ่งขึ้น ขณะที่ประชาชนเข้าถึงบริการบำบัดรักษาได้ง่ายขึ้น ด้วยฟังก์ชันนัดหมายออนไลน์ การประเมินตนเอง และการออกใบรับรองแพทย์ออนไลน์ ช่วยผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลได้รับเอกสารสำคัญได้อย่างรวดเร็ว ลดช่องว่างการเข้าถึงบริการ สร้างความมั่นใจให้กับครอบครัวและชุมชนทั่วประเทศ
ด้านนายแพทย์โอภาสกล่าวว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่ประชาชนทุกระดับ และยกระดับระบบสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการยกระดับหน่วยบริการ “มินิธัญญารักษ์” เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ได้มากขึ้น และพัฒนาแนวทางการดูแลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยทั้งในด้านจิตเวชและยาเสพติด ช่วยให้เข้าถึงการบำบัด รักษาและฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้าง "ทีมชุมชนล้อมรักษ์" เพื่อรองรับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในระบบ CBTx โดยเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยหลังการบำบัดแบบบูรณาการ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการขยายหน่วยบริการมินิธัญญารักษ์รองรับผู้ป่วยในพื้นที่ และการสร้างทีมชุมชนล้อมรักษ์ดูแลผู้ติดยาเสพติดหลังการบำบัด รวมถึงนำธวัชบุรีโมเดลและท่าวังผาโมเดลไปขยายผลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของแต่ละพื้นที่


สำหรับ “ธวัชบุรีโมเดล” จะแตกต่างจากวิธีการเดิมที่เน้นการจับกุมผู้เสพยาเสพติด จุดเด่นคือ การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยชาวบ้านร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกัน และช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดในชุมชนของตน มีการบำบัดที่ครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจ การฝึกอาชีพ เพื่อให้ผู้เสพสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และการป้องกันเชิงรุกไม่ให้เยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ผ่านการให้ความรู้และกิจกรรมต่างๆ ช่วยลดจำนวนผู้เสพยาเสพติดในพื้นที่ได้ผล ฟื้นฟูชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชนมากขึ้น ส่วน “ท่าวังผาโมเดล” เป็นการผสานความร่วมมือภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อตัดวงจรผู้ค้า รักษาผู้เสพ คืนสู่อ้อมกอดชุมชน โดยหน่วยงานในระดับจังหวัดเข้าสำรวจทุกพื้นที่เพื่อตรวจกลุ่มเสี่ยงอายุ 16 ปีขึ้นไป และแยกตัวผู้เสพ ดำเนินการยึดทรัพย์และจับกุมผู้ขาย นำผู้เสพ เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการจิตเวช มีกระบวนการคัดกรองที่ละเอียดมากขึ้น ทำให้สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยได้สำเร็จมากขึ้น มีกระบวนการฟื้นฟูทางสังคมโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัดให้กลับสู่สภาพชีวิตปกติ เสริมสร้างมาตรการชุมชนในการต่อต้านยาเสพติด เฝ้าระวังและดูแลความปลอดภัย รวมถึงร่วมกันปลูกฝังเยาวชนผ่านการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงผลเสียของยาเสพติด


23 ธันวาคม 2567