แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่มุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs (Non Communicable Diseases) ที่ขณะนี้มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นถึงปีละ 400,000 คน ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลกว่า 62,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้ง ผู้ป่วยยังสูญเสียรายได้ จากการใช้เวลาในการเข้ารักษาพยาบาล กรมอนามัย ขานรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าตามยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของบุคลากรหรือเป็นเจ้าขององค์กรในการสร้างสุขภาพดี ทั้งในสถานที่ทำงาน โรงเรียน ชุมชน ศาสนสถาน ฯลฯ โดยเริ่มต้น Kick Off ที่สภาผู้แทนราษฎร หวังสร้างเป็นองค์กรสุขภาพดี จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการส่งเสริมสุขภาพ ระหว่าง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้เเทนราษฎร โดยมี ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามร่วม พร้อมทั้งเปิดตัว “โครงการคนสภาไร้พุง” ถือเป็นความร่วมมือในการสร้างเสริม สนับสนุน สร้างความตระหนัก ความรอบรู้ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ทั้งด้านการบริโภคอาหาร นับคาร์บ ลดหวาน มัน เค็ม และการออกกำลังกาย อย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ หรือ เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพอยู่เสมอ รวมทั้งการจัดการอารมณ์ เพื่อผ่อนคลายความเครียด ด้วยการฝึกสมาธิ หรือมีงานอดิเรก เป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อสุขภาพ โดยเปิดตัวโครงการ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมสัมมนา บี 1-1 ชั้น บี 1 อาคารรัฐสภา ซึ่งกรมอนามัยคาดหวังว่าโครงการคนสภาไร้พุงจะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ดีสำหรับบุคลากรในรัฐสภา และยังเป็นองค์กรต้นแบบสำหรับเผยแพร่โครงการฯ และสร้างความตระหนักไปยังภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป
“ทั้งนี้ โครงการสภาไร้พุงกรมอนามัยได้ประเมินและทดสอบด้านสุขภาพของบุคลากรก่อนเริ่มต้นโครงการ จำนวน 500 คน ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ประเมินค่า BMI และวัดเส้นรอบเอว พบว่า บุคลากรส่วนใหญ่เริ่มมีความเสี่ยงโรคอ้วน และโรค NCDs จากนั้น กรมอนามัยจึงให้ความรู้ด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย แนะนำการจัดอาหารสุขภาพ และสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพ พร้อมวางแผนการดำเนินงานต่อเนื่องในช่วง 6 เดือน เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาที่ยั่งยืน สำหรับด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมกรมอนามัยจะให้ความสำคัญมาก และจะติดตามเพื่อให้ข้อแนะนำในการปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในองค์กรที่อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพของบุคลากร รวมทั้ง วางแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพสำหรับบุคลากรให้มีสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโนโรไวรัส (Norovirus) ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ในการให้บริการอย่างเพียงพอ รวมทั้งจัดเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรค ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ให้เฝ้าระวังและแจ้งเหตุกรณีพบผู้ป่วยในพื้นที่ โดยให้ประสานศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรค พร้อมประสานสำนักงานเขต สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ให้กับบุคลากรของสถานศึกษา และประชาชนให้สร้างความตระหนัก ให้ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการเจ็บป่วยจากเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงประชาสัมพันธ์เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรค ด้วยการล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุกสุกใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ และควรอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มที่ผ่านมาตรฐาน
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ. มีมาตรการเชิงรุกโดยให้โรงเรียนในสังกัด กทม. รายงานสถานการณ์เมื่อพบความเสี่ยง การติดเชื้อ และการระบาดผ่านช่องทาง Online ในแบบสำรวจข้อมูล Google Form พร้อมทั้งกำชับให้โรงเรียนเฝ้าระวังและสังเกตอาการของนักเรียนในโรงเรียนทุกคน และดำเนินการตามมาตรการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แจ้งเตือนโรคอุจจาระร่วงจากโนโรไวรัส และเป็นไปตามแนวทางที่ได้แจ้งให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ได้ถือปฏิบัติ พร้อมขอความร่วมมือสำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียน ตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด สุขาภิบาล วัสดุการเรียนการสอน และการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สนศ. ประสาน สนอ. และ สนพ. ถึงแนวทางการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัส วิธีการสังเกตอาการของโรค และวิธีการปฏิบัติตนเมื่อมีอาการอุจจาระร่วง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งจัดทำแนวทางและแผนเผชิญเหตุ เพื่อเวียนแจ้งให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ได้ทราบและปฏิบัติ หากพบผู้ป่วย หรือการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโนโรไวรัสในโรงเรียน กทม. ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอุจจาระร่วง ให้โรงเรียนประสานส่งต่อสถานพยาบาลในพื้นที่เขตซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนเพื่อรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ
ขณะเดียวกันได้กำชับเน้นย้ำกระบวนการปรุงอาหารมีความสะอาดและปลอดภัย เพื่อให้นักเรียน ครู และบุคลากรได้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ถูกหลักอนามัย มีภาชนะใส่ หรือบรรจุอาหารที่สะอาดและป้องกันแมลงนำโรค รวมทั้งกำหนดแนวทางการป้องกันโรคระบาดในเด็กที่เกิดจากความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม โดยขอความร่วมมือสำนักงานเขตกำกับโรงเรียนในพื้นที่ปฏิบัติตามคู่มือแนวทางการจัดการอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา ตลอดจนบูรณาการบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกตรวจประเมินการจัดการอาหาร อาหารเสริม (นม) น้ำดื่มและน้ำแข็ง เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สอดคล้องกับระบบ Thai School Lunch for BMA และเป็นไปตามมาตรการแนวทางการจัดการอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา ตลอดจนกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสารและประสานงาน การเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสถานพยาบาลในพื้นที่เขตซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียน สนับสนุนพื้นที่ภายในโรงเรียนให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค