กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำรักษาโรคกับหมอพื้นบ้าน ให้สังเกตหนังสือรับรองและประเภทความเชี่ยวชาญในการรักษา เพื่อความปลอดภัย ระวังผู้แอบอ้าง ทำเสียโอกาสในการรักษา


กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำประชาชนที่มีความประสงค์รับการรักษาโรคกับหมอพื้นบ้าน ให้สังเกตหนังสือรับรองและประเภทความเชี่ยวชาญที่ขอรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข พร้อมแนะนำขั้นตอน คุณสมบัติ การเสนอรายชื่อให้บุคคลในท้องถิ่นให้เป็นหมอพื้นบ้านตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ.2562 หมอพื้นบ้าน คือ บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ ของประชาชนในท้องถิ่น ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยตามวัฒนธรรมชุมชนที่สืบทอดกันมา และเป็นไปตามลักษณะ ประเภท หรือกรรมวิธีของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามวัฒนธรรมชุมชนที่ได้รับการรับรอง ซึ่งบุคคลที่จะสามารถขอหนังสือรับรอง การเป็นหมอพื้นบ้าน ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ เพื่อพิจารณารับรองการเป็นหมอพื้นบ้าน ส่วนเขตกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานเขตชุมชนนั้นๆ เสนอชื่อเพื่อพิจารณารับรองการเป็นหมอพื้นบ้านได้ที่คณะกรรมการรับรองการเป็นหมอพื้นบ้านกรุงเทพมหานครหรือกรมการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขได้ในเวลาราชการ
สำหรับ บุคคลที่ถูกเสนอเป็นหมอพื้นบ้านต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) มีอายุไม่น้อยกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
2) มีภูมิลำเนา ในพื้นที่ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
3)เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามวัฒนธรรมของชุมชนที่สืบทอดกันมานานไม่น้อยกว่าสิบปี และเป็นที่นิยมยกย่องจากชุมชน
4) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่คณะกรรมการหมอพื้นบ้านประกาศกำหนด
5) ไม่เคยต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงสิ้นสุดในคดีที่คณะกรรมการหมอพื้นบ้านเห็นว่า จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
ส่วนเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการรับรองการเป็นหมอพื้นบ้าน จะพิจารณาถึงสิ่งต่าง ๆ ประกอบ ดังนี้
1) ลักษณะ ประเภท หรือกรรมวิธีของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
2)ความรู้ความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามวัฒนธรรมของชุมชนที่สืบทอดกันมา
3) ไม่มีการเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมสุขภาพ หรือประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชนที่สืบทอดกันมา
4) การเป็นที่รู้จักและยอมรับจากคนในชุมชน
5) มีคุณธรรม และจรรยาบรรณ
6) องค์ประกอบอื่น ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมของชุมชน เป็นต้น
ปัจจุบัน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศได้สำรวจ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการจัดทำทะเบียนข้อมูล พบว่า มีหมอพื้นบ้านที่ได้รับการสำรวจ รวบรวม และจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 48,161 ราย และคัดกรองตรวจสอบความรู้คุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์ได้รับการรับรองเป็น หมอพื้นบ้าน ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ.2562 จำนวน 2,844 คน และยังมีหมอพื้นบ้านที่มีใบประกอบโรคศิลปะประเภท ค.ทั้งสิ้น 165 คน อายุมากที่สุด 102 ปี และมีอายุเฉลี่ยที่ 79 ปี ยังคงมีอายุอยู่ 80 คน เป็นหมอสมุนไพร 69 คน หมอกระดูก 28 คน หมอพิธีกรรม 2 คน หมอตำแย 1 คน หมอรักษาพิษงู 7 คน และหมอนวด และนวดจัดกระดูก 26 คน โดยล่าสุด ได้มีการถอดองค์ความรู้รวมถึงบันทึกองค์ความรู้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านทั่วประเทศ นอกจากนี้ในส่วนของระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะระเบียบว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน 2562 จะได้มีการทบทวนแก้ไข ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในปัจจุบันซึ่งพยายามมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลรักษาของ หมอพื้นบ้านให้มีความปลอดภัยโดยคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวสำคัญ
สำหรับประชาชนที่มีความประสงค์รักษาโรคกับหมอพื้นบ้าน ต้องสอบถามให้แน่ใจว่าบุคคลดังกล่าว มีหนังสือรับรองการเป็นหมอพื้นบ้านจากกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ และหมอพื้นบ้านคนดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคด้านใด สอดคล้องกับโรคของตนเองที่ต้องการไปรับการรักษาหรือไม่ หรือหากเกิดข้อสงสัยสามารถสอบถามกับแพทย์แผนไทยหรือบุคลากรสาธารณสุขในหน่วยบริการของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊กและไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก