“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี


จุฬาฯ เปิดศูนย์ดูแลสุขภาวะผู้สูงอายุที่คณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยผสานความร่วมมือสหสาขาวิชาชีพ ดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ห่างไกลโรค พึ่งพาตัวเองได้



การออกไปทำงานในแต่ละวันและต้องปล่อยให้คุณแม่วัย 80 ปีอยู่บ้านเพียงลำพัง ทำให้คุณเกรียงศักดิ์ คุณวิรามกุล อดรู้สึกกังวลใจไม่ได้ “คุณแม่จะหกล้ม หรือรู้สึกเหงาบ้างหรือเปล่า ผมอยากให้คุณแม่ได้ทำกิจกรรมนอกบ้านและพบปะกับผู้สูงวัยด้วยกันบ้าง” ผู้ประกอบการธุรกิจวัย 47 ปี กล่าว


จนเมื่อรู้ข่าวว่ามี “ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ” ที่ชั้น 10 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ คุณเกรียงศักดิ์รีบพาคุณแม่ไปสมัครรับบริการ และไปทำงานด้วยความสบายใจมากขึ้น เช้าวันพุธ พฤหัส ศุกร์ ก่อนไปทำงาน คุณเกรียงศักดิ์จะแวะไปส่งคุณแม่ที่ศูนย์ฯ และหลังเลิกงานในตอนเย็น ก็จะมารับคุณแม่เพื่อกลับบ้านไปด้วยกัน


“ช่วงเวลา 2 เดือนที่คุณแม่มาใช้บริการที่นี่ ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือคุณแม่มีความสุขมากขึ้น มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น กิจกรรมที่คุณแม่ชอบเป็นพิเศษคือการเต้นรำและร้องเพลง รวมทั้งคลาสที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ”


คุณกฤษธญาพัธ อนันท์วีระกุล เป็นอีกคนที่พาคุณแม่วัย 86 ปี มารับบริการที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ


“การที่มีศูนย์ดูแลคุณแม่ช่วยเติมความสุขให้ลูกหลานจริง ๆ คุณแม่ได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ออกกำลังกาย ร้องเพลง เราได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคุณแม่เวลาทำกิจกรรมที่ศูนย์จะส่งภาพมาทางกรุ๊ปไลน์ สิ่งนี้ทำให้เรามีความสุข คุณแม่ได้เจอเพื่อนเก่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เจอกันมานานตั้งแต่เรียนจบ แต่มาเจอกันที่ศูนย์ฯ และได้ทำกิจกรรมด้วยกัน คุณแม่มีความสุขมาก”


“ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ” คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เพียงแต้มรอยยิ้มให้ผู้สูงอายุ แต่ยังเติมความสุขให้กับลูกหลานวัยทำงานอีกหลายคนสบายใจได้ว่าฝากญาติผู้ใหญ่ที่รักและห่วงใยไว้ในความดูแลของพยาบาลวิชาชีพ นิสิตและนักกิจกรรมบำบัดที่จะช่วยให้ช่วงระหว่างวันของผู้สูงอายุมีความสุข สนุกสนาน แทนการอยู่บ้านเงียบ ๆ เหงา ๆ โดยลำพัง


จุดเริ่มต้นศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุระหว่างวัน (Day Care)


ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2566 โดยมีประชากรอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ประกอบกับโครงสร้างครอบครัวที่เล็กลง และสภาพเศรษฐกิจที่บีบให้คนวัยทำงานต้องออกทำงานนอกบ้าน ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ลูกหลานวัยทำงานต้องหาตัวช่วย ธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุจึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


อย่างไรก็ดี สถานดูแลและให้บริการสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันเน้นไปที่ผู้สูงอายุ 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง (Active Aging) และช่วยเหลือตัวเองได้ และกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือติดเตียง


“เรายังขาดศูนย์ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นและเริ่มติดบ้านมากขึ้น ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ต้องพึ่งพาลูกหลานและคนในครอบครัวในการดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพังในช่วงที่ลูกหลานออกไปทำงานมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยสุขภาพ เช่น พลัดตก หกล้ม หรือเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงตามวัย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ในเวลาต่อมา” รองศาสตราจารย์ ร้อยเอกหญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ (Center for Health and Well-being Promotion for Older People : CHWPOP) คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาและเป้าหมายในการเปิดศูนย์ฯ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของทีมผู้บริหารของคณะฯ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดบริการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย


“เราต้องการดูแลและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุกลุ่มนี้ให้กลับไปอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรง ตามเดิม หากไม่สามารถทำได้ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมถอยของร่างกายให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่เข้าไปสู่ภาวะพึ่งพิงและติดเตียง”


ต้นแบบธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุระหว่างวัน


“ปัจจุบันการจัดบริการสำหรับผู้สูงวัยแบบมาเช้ากลับเย็น (day care service) ได้รับความสนใจมากขึ้น มีศูนย์บริการเช่นนี้ที่ตั้งขึ้นโดยหน่วยงานเอกชนและภาครัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละแห่งมีอัตราค่าบริการแตกต่างกัน และบริการที่หลากหลายต่างกันไป อย่างไรก็ดี แม้จะมีสถานที่ให้บริการผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ผู้ดูแลผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยยังขาดความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี” รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ กล่าว


“เราเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินการโดยคณะพยาบาลศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ให้บริการเต็มรูปแบบเพียงศูนย์เดียวในประเทศไทย เรามีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ด้านการพยาบาลผู้สูงอายุจากการศึกษาวิจัย มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และมีบุคลากรที่มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ” รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ กล่าวถึงจุดเด่นของศูนย์ส่งเสริม สุขภาวะผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ


“การบริการที่ศูนย์ฯ ครอบคลุมการดูแลสุขภาพกาย จิตสังคม จิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อม เราใช้การวิจัยเป็นฐานและทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพในจุฬาฯ เพื่อนำผลการวิจัยไปทดลองใช้และสร้างนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุที่ยั่งยืน นอกจากนี้ เราตั้งใจจะพัฒนาต้นแบบธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบางในเขตเมือง โดยยึดผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง”


ที่ศูนย์ฯ มีบริการวิชาการและวิจัยด้านผู้สูงอายุ การจัดการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุให้บุคลากรด้านสุขภาพและประชาผู้สนใจทั่วไป ที่สำคัญ ศูนย์ฯ ยังเป็นตัวอย่างการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบการดูแลระหว่างวัน (Day care) เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและครอบครัว


ตั้งแต่ศูนย์ฯ เปิดให้บริการเมื่อธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานและเรียนรู้กับศูนย์ฯ จากทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง


ดูแลผู้สูงวัย สร้างภูมิคุ้มกันภาวะเปราะบาง


ปัจจุบัน ศูนย์ฯ เปิดให้บริการผู้สูงอายุวันละ 15 คน และให้บริการ 3 วันต่อสัปดาห์ คือ วันพุธ พฤหัสบดี และศุกร์ ซึ่งผู้สูงอายุที่สนใจเข้ามารับบริการที่ศูนย์ฯ จำเป็นต้องได้รับการประเมินสุขภาพก่อน


“เราจะประเมินว่าผู้สูงอายุเริ่มเข้าสู่ภาวะเปราะบางและมีแนวโน้มที่จะติดบ้านหรือติดเตียงหรือไม่ มีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง เช่น ภาวะเปราะบาง (ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง เดินช้าลง น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง และมีโรคประจำตัวหลายโรค) ภาวะสมองเสื่อมภาวะซึมเศร้า ภาวะเสี่ยงต่อการหกล้ม ภาวะโภชนาการ ภาวะกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่ได้ และระดับการช่วยเหลือตัวเอง” รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ อธิบาย


จากนั้นทางศูนย์ฯ จะประมวลผลข้อมูลเพื่อวางแผนให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงพฤติกรรมทางด้านสุขภาพ การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การกระตุ้นสมอง และการให้ความรู้ คำปรึกษา และฝึกทักษะการดูแลผู้สูงอายุให้กับผู้ดูแล เป็นต้น


บ้านหลังที่ 2 ของผู้สูงวัย ครบครันกิจกรรมสนุกเพื่อสุขภาพดี


รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ เล่าว่าที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุมีกิจกรรมมากมายที่จะช่วยพัฒนาทักษะและสมรรถนะผู้สูงอายุรอบด้าน เช่น มีการให้ความรู้ทางด้านสุขภาพทุกวัน โดยวันพุธบ่ายมีดนตรีบำบัด ทุกวันพฤหัสบดีมีกิจกรรมการประกอบอาหาร ส่วนวันศุกร์มีกิจกรรมฝึกกายฝึกจิตแบบชี่กง


“กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิต” รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ กล่าวและยกตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะ อาทิ ดนตรีบำบัดช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำงานสมองและประสาทสัมผัส เสริมสร้างสมาธิและความผ่อนคลาย กิจกรรมศิลปะบำบัดและเกม รวมถึงกิจกรรมงานฝีมือและงานประดิษฐ์ นอกจากทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังช่วยฝึกสมาธิ การประสานสัมพันธ์ของมือกับตา บริหารกล้ามเนื้อมัดเล็ก การทำงานร่วมกับผู้อื่น และสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง สำหรับผู้ที่มีความจำเริ่มเสื่อมลง กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ช่วงความจำดีขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพทางปัญญาและการรับรู้ เสริมสร้างอัตลักษณ์ของผู้สูงอายุและชีวิตที่มีความหมาย ลดอาการซึมเศร้าและช่วยส่งเสริมทักษะทางสังคม นอกจากกิจกรรมหลากหลายแล้ว ที่ศูนย์ฯ ยังมีการจัดพื้นที่และสร้างบรรยากาศภายในให้ผู้สูงอายุรู้สึกเสมือนอยู่ “บ้านหลังที่ 2”


ในศูนย์ฯ มีห้องน้ำ ห้องประกอบอาหาร ห้องออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ห้องกระตุ้นประสาทสัมผัสที่หลากหลาย เช่น การมองเห็น การได้ยิน การรับกลิ่น และการสัมผัส ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ส่งเสริมทางด้านอารมณ์และเพิ่มพฤติกรรมทางบวก ช่วยให้นอนหลับสบาย มี “ห้องสภากาแฟ” ที่มีการตกแต่งห้องให้ผู้สูงอายุได้พูดคุยระลึกถึงเรื่องราวในอดีต เป็นการกระตุ้นความทรงจำและอารมณ์ด้วยประสบการณ์ชีวิตในอดีต เมื่อถูกระตุ้นบ่อย ๆ ทำให้เกิดความทรงจำซ้ำได้ ช่วยให้มีความจำและการเรียนรู้ดีขึ้น นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ยังมีพื้นที่สีเขียวให้ผู้สูงอายุได้ปลูกต้นไม้ด้วย


รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ อธิบายว่ากิจกรรมทั้งหลายและการออกแบบพื้นที่ในศูนย์ฯ มาจากความร่วมมือของคณาจารย์จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาในจุฬาฯ เช่น การออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สูงอายุ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ การใช้ดนตรีบำบัดในผู้สูงอายุโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยนักกำหนดอาหารจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ความรู้เรื่องการออกกำลังกายโดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ ด้านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้สูงอายุ ทางศูนย์ฯ จะร่วมมือกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเพื่อจัดรถรับส่งผู้สูงอายุในการเดินทางมายังศูนย์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย


บุคลากรที่ให้บริการในศูนย์ฯ เป็นอาจารย์และพยาบาลวิชาชีพที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ และนิสิตปริญญาโทที่ฝึกปฏิบัติงานด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ รวมทั้งมีการเชิญวิทยากรภายนอกมาให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุในเรื่องต่าง ๆ เช่น สมองเสื่อมป้องกันได้ การใช้ไอทีให้ปลอดภัย สมุนไพรกับสุขภาพ ฯลฯ ทุกเดือนจะมีการประเมินภาวะสุขภาพ และให้คำแนะนำแก่ญาติและผู้ดูแลผู้สูงอายุเพื่อนำไปใช้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน


Day Care จุฬาฯ ตอบโจทย์ลูกหลาน ตรงใจผู้สูงวัย


รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ เผยถึงกลุ่มเป้าหมายของศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย จุฬาฯ ว่าเน้นไปที่อาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ ที่เกษียณ ญาติผู้ใหญ่ของคณาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ ตลอดจนผู้สูงอายุที่พักอาศัยโดยรอบมหาวิทยาลัย และผู้สูงอายุที่สามารถเดินทางมาที่ศูนย์ฯ ได้ด้วยตนเองหรือญาติพามาส่ง เช่น คุณสมปอง วัย 82 ปี ที่เดินทางมาด้วยตนเองโดยรถขนส่งสาธารณะ และบางโอกาสจะมีหลานมารับ-ส่งที่ศูนย์ฯ


“ช่วงเวลาที่ได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ศูนย์เป็นเวลาแห่งความสุขและความอบอุ่นใจ ได้เพื่อนและความสนุกสนาน ไม่เหงา ชอบทุกกิจกรรมที่จัดให้ และยังได้ความรู้เรื่องการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพกายและใจด้วย การเดินทางไปกลับก็สะดวกสบาย เดินทางไป-กลับด้วยรถไฟฟ้า BTS แต่บางครั้งหลานก็มารับ-ส่ง’”


ส่วนคุณพูนสิน วัย 82 ปี กล่าวว่าลูกชายเป็นคนชวนให้มาใช้บริการที่นี่ และประทับใจทุกกิจกรรมที่ศูนย์ฯ จัดขึ้นเพื่อผู้สูงอายุ “มาที่นี่ ได้เจอเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน ทำให้ไม่เหงา ชอบทุกกิจกรรมที่นี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทำอาหารทุกวันพฤหัส ได้ทำอาหารและชิมอาหารจากฝีมือตัวเอง มีอาจารย์มาบรรยายให้ความรู้ ในเรื่องการดูแลสุขภาพ ประทับใจอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี”


ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 กิจการประเภทการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง จากกระทรวงสาธารณสุข ด้านการตอบรับจากผู้สูงอายุที่มาใช้บริการอยู่ในระดับดีมาก โดยผลการประเมินได้คะแนนสูงถึง 4.98 จากคะแนนเต็ม 5


ถ้าผู้สูงอายุเริ่มเหงา ไม่อยากออกไปไหน อยากให้ผู้สูงวัยมีชีวิตชีวา ได้เพื่อนใหม่ และสามารถดูแลตัวเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขอเชิญที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ เปิดให้บริการสัปดาห์ละสามวันคือวันพุธ พฤหัสบดี และศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ค่าใช้จ่ายครั้งละ 500 บาทต่อวัน รวมอาหารกลางวันและอาหารว่าง


ผู้สนใจสามารถจองล่วงหน้าได้ที่โทร. 06-1238-2322