กรมควบคุมโรค ผลักดันนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้คนไทย ห่างไกลโรค NCDs ชวนคนไทยลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs หลังพบคนไทยมากกว่า 22 ล้านคน ป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม
วันนี้ (14 มกราคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคเกลือและโซเดียมมากเกินไป คนไทยมากกว่า 22 ล้านคน ป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง จากการสำรวจการบริโภคเกลือแกงในประเทศไทย พ.ศ. 2552 พบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากการรับประทานอาหารมากถึง 4,352 มิลลิกรัม ต่อคนต่อวัน จะเห็นได้ว่าคนไทยบริโภคเกลือเกินกว่า 2 เท่า จากที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือ 1 ช้อนชา ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไปเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมระดับความดันโลหิตได้จะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิต เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง และภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันเกลือที่ใช้ในการปรุงอาหาร แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เกลือเค็ม คือ เกลือทั่วไปที่มีรสเค็ม เช่น เกลือสมุทรหรือเกลือสินเธาว์ เกลือหวาน คือ ผงชูรส และเครื่องปรุงรสอื่นๆที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ เกลือจืด คือ ผงฟูที่ใช้ทำขนมปัง และสารกันบูดเพื่อยืดอายุของอาหาร เกลือเหล่านี้มี “โซเดียม” ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญในการควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย การบริโภคเกลือลดลงจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ช่วยลดระดับความดันโลหิต และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ลดความรุนแรงของโรคไต และเบาหวาน ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แหล่งอาหารที่มีโซเดียมสูง ได้แก่ อาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารตากแห้ง อาหารหมักดอง อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป เป็นต้น อาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว อาหารแช่แข็งหรือแช่เย็น อาหารที่เติมเกลือหรือใช้เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส ผงชูรส ซุปก้อน เป็นต้น อาหารที่ใส่ผงฟู เช่น เค้ก เบเกอรี่ ขนมปัง เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงหรือบริโภคแต่น้อยและควรเลือกกินอาหารที่มีโซเดียมต่ำ ได้แก่ อาหารธรรมชาติ เช่น ผักและผลไม้สด ถั่ว ธัญพืช เนื้อสด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว โดยกลุ่มผักและผลไม้สดมีโซเดียมน้อยกว่ากลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารที่ไม่ปรุงรสเพิ่มหรืออาหารรสธรรมชาติ ดังนั้น ประชาชนควรเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม ไม่รับประทานมากเกินความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเป็นการสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่ดีในระยะยาว
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดบริโภคเกลือและโซเดียมไม่ได้หมายความว่ารสชาติอาหารจะจืดชืดแต่เป็นการเลือกวิธีปรุงอาหารให้เค็มน้อยลง แต่ยังคงมีรสชาติความอร่อยและดีต่อสุขภาพ การลดความเค็มทีละน้อยในแต่ละมื้อจะช่วยให้เรากินเค็มน้อยลงจนกลายเป็นนิสัยใหม่ที่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้นวิธีลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อสุขภาพที่ดีทำได้ โดยลดการพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปและอาหารแปรรูปที่มีโซเดียมสูง หันมาปรุงอาหารกินเอง และเลือกใช้ส่วนผสมของสมุนไพรและเครื่องเทศปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติอาหาร ชิมก่อนปรุง เลี่ยงการปรุงเพิ่ม เลี่ยงการใช้น้ำจิ้มหรือน้ำราด เลี่ยงอาหารรสจัด และควรอ่านฉลากโภชนาการ เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 14 มกราคม 2568