กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดพื้นที่สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมสุขภาพ ภายใต้ “โครงการ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND” โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วประเทศได้เรียนรู้และใช้กระบวนการ STEAM4INNOVATOR 4 ขั้นตอนเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์แนวคิดและนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรหน้าใหม่ระดับเยาวชน พร้อมผลักดันการพัฒนาผลงานให้เกิดเป็นธุรกิจด้านการสร้างเสริมสุขภาพผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาโดยเครือข่ายอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญใน STEAM4INNOVATOR Center 9 มหาวิทยาลัย การเข้าค่ายแฮกกาธอน 4 ภูมิภาค เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและสร้างสรรค์แนวคิดเพื่อการแก้ไข การเข้าค่ายพัฒนาผลงานเพื่อต่อยอดเป็นชิ้นงานที่ใช้ได้จริง และการประกวดผลงานนวัตกรรมระดับประเทศที่พร้อมผลักดันผลงานที่ได้รับรางวัลเพื่อเข้าขอรับทุนสนับสนุนในการลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ ต้องอาศัยพลังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งการปลุกความเป็น “นวัตกร” ตั้งแต่ระดับเยาวชนจะช่วยให้เติบโตเป็นคนที่ใฝ่หาการเรียนรู้ ค้นคว้า และมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเยาวชนผ่านหลักสูตร STEAM4INNOVATOR อย่างต่อเนื่อง เช่น การประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า สำหรับปีนี้ NIA ยังคงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของเยาวชนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มทักษะการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดการสร้างธุรกิจหรือสร้างคุณค่าทางสังคมได้จริง โดยร่วมกับ สสส. สร้างการเรียนรู้ในกลุ่มนิสิตและนักศึกษาภายใต้ “โครงการ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND” ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ผลิตใช้หรือขายจริงได้ด้วยกลไกการเงินและผู้เชี่ยวชาญของ NIA รวมถึงภาคีเครือข่ายในระบบสุขภาพของ สสส.
“NIA มั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมในกลุ่มเยาวชนอย่างแพร่หลายและยั่งยืนด้วยการดำเนินงานเชิงระบบที่ไม่ได้เน้นวัดผลจากนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สร้างสรรค์ขึ้นเท่านั้น แต่จะดำเนินงานใน 3 เป้าหมาย คือ 1. พัฒนาทักษะด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านเครือข่ายอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อร่วมจัดการเรียนการสอนชุดสาระด้านสุขภาพและกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับนักศึกษา พร้อมสนับสนุนให้เกิดการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และดำเนินการพัฒนาผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ 2. สนับสนุนการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยออกแบบกระบวนการพัฒนาสำหรับนิสิตและนักศึกษาที่มุ่งเรียนรู้และกระตุ้นการพัฒนาแนวคิดเพื่อตอบโจทย์การสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านกิจกรรมค่ายแฮกกาธอน และค่ายพัฒนาผลงาน พร้อมให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาและต่อยอดการสร้างผลงาน และ 3. สร้างต้นแบบนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฟ้นหานวัตกรรมที่สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การขยายผลสร้างธุรกิจ เกิดเป็นต้นแบบการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพโดยเยาวชนรุ่นใหม่ และแรงบันดาลใจให้เด็กไทยก้าวสู่การเป็นนวัตกรในอนาคต”
นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า โครงการนี้จะใช้กลไก STEAM4INNOVATOR CENTER ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่พร้อมจะนำไปสร้างทักษะให้กับนิสิต นักศึกษา โดยปัจจุบันมีอยู่ 9 มหาวิทยาลัยกระจายอยู่ใน 4 ภูมิภาค และด้วยความพร้อมของ 4C ซึ่งเป็น 4 เสาหลักของการเป็น STEAM4INNOVATOR CENTER ได้แก่ Content การติดเครื่องมือเนื้อหาให้อาจารย์สามารถใช้กระบวนการและเครื่องมือจาก STEAM4INNOVATOR ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเข้มข้น Coaching ทักษะของอาจารย์ที่สามารถเป็นโค้ชนวัตกรให้กับนักศึกษาได้ Connection การเชื่อมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาผลงานนวัตกรรม และ Cluster การจัดพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดและแรงบันดาลใจให้นวัตกรเยาวชน ซึ่ง NIA มั่นใจว่าจะสามารถสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับเยาวชนทั่วประเทศที่เข้าร่วมกระบวนการได้อย่างเข้มแข็ง โดย STEAM4INNOVATOR CENTER แต่ละภูมิภาคจะดำเนินการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในมหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมแฮกกาธอนรวม 4 ภูมิภาค เพื่อให้ข้อมูลและกระตุ้นเยาวชนให้สามารถสกัดข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหา จัดการบ่มเพาะและให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาไอเดีย คัดเลือกผลงานเด่นของภูมิภาคเข้าสู่กิจกรรมการเข้าค่ายพัฒนาผลงานและการประกวดผลงานนวัตกรรมระดับประเทศต่อไป ซึ่งเยาวชนจะได้ต่อยอดเป็นชิ้นงานที่ใช้ได้และขยายผลจริง
ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. มุ่งสนับสนุนการพัฒนาและขยายผลงานสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสร้างและรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การพัฒนาศักยภาพและการจัดการที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สภาพแวดล้อมและสังคมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ผ่าน 7 ประเด็นสุขภาพตามทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมา สสส. ดำเนินงานด้านสนับสนุนกลไกการพัฒนา บ่มเพาะ ต่อยอด และขยายผลต้นแบบนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิด ความสามารถ ได้รับการบ่มเพาะทักษะความสามารถในการประดิษฐ์ คิดค้น ต่อยอดนวัตกรรม ผ่านการวิเคราะห์โดยใช้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งปลูกฝังแนวคิดด้านการสร้างเสริมสุขภาพในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนและสังคมได้
“ความร่วมมือระหว่าง สสส. กับ NIA และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้ง 4 ภูมิภาคในการพัฒนาเยาวชนให้เกิดทักษะกระบวนการคิดแบบนวัตกร โดยอาศัยการกำหนดประเด็นมุ่งเน้นเฉพาะด้าน คือ นวัตกรรมด้านสร้างเสริมสุขภาพ จะช่วยจุดประกายความคิดให้เกิดการคิดใหม่ทำใหม่ กระตุ้นความคิดริเริ่มให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เกิดสังคมสุขภาวะครบทั้ง 4 มิติ สามารถมองสถานการณ์และปัญหาสุขภาพรอบตัวในสถาบันการศึกษาหรือชุมชน และสามารถคิดค้นนวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ในแบบของตนเองสู่การพัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพ สอดรับกับการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะของ สสส. พัฒนาสังคมสุขภาวะให้ดีขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อไป”
สำหรับ นิสิต นักศึกษา และเยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทย สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ
รายละเอียดโครงการแบ่งเป็น 3 ระยะ
1. Readiness: การเตรียมความพร้อมสำหรับศูนย์ STEAM4INNOVATOR CENTER ทั้ง 4 ภูมิภาคและผู้เชี่ยวชาญในการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพของเยาวชน เพื่อพัฒนาหลักสูตรไปสู่รายวิชาที่เกี่ยวข้องในแต่ละมหาวิทยาลัย
2. Playground: การเปิดเวทีให้เยาวชนได้ร่วมกันขุดค้นข้อมูลเชิงลึก ปลดปล่อยไอเดียสุดเจ๋ง พร้อมบ่มเพาะแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพภาพผ่านกิจกรรมแฮกกาธอนแต่ละภูมิภาค โดยคัดเลือกภูมิภาคละ 5 ผลงาน รวม 4 ภูมิภาค 20 ผลงาน เพื่อเข้าสู่รอบการพัฒนานวัตกรรมสู่ความสำเร็จในระดับประเทศต่อไป
· ภาคกลาง: 15-16 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
· ภาคใต้: 27-28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยทักษิณ
· ภาคเหนือ: 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2568 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ครอบคลุมวิทยาเขตใน 6 จังหวัดภาคเหนือ
· ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: 7-9 มีนาคม 2568 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
3. Achievement Program: การต่อยอดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใน Matching Camp ที่จะจัดขึ้นที่ส่วนกลาง กรุงเทพมหานครในเดือนมิถุนายน เพื่อต่อยอดพัฒนาผลงานและคัดเลือกให้ได้ 12 นวัตกรรมต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพที่พร้อมจะขยายผล โดยมี 1 on 1 Coaching เพื่อสร้าง ทดสอบ และปรับปรุงต้นแบบจนสามารถใช้งานได้จริงและดีที่สุด พร้อมที่จะนำเสนอในกิจกรรม 12 INNOVATIVE LAUNCH ในเดือนกันยายน เพื่อคัดเลือก 5 ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่จะพัฒนาต่อเชิงพาณิชย์หรือขยายผลเชิงสังคมในวงกว้างได้ต่อไป