โซเดียมแอบแฝง ภัยเงียบในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส บ่อเกิดของโรค NCDs เตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภค

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค เผยการสำรวจฉลากโภชนาการในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จ


นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากความร่วมมือภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค ได้ดำเนินการสุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปจำนวน 300 ตัวอย่างและเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนภัยใกล้ตัวจากภัยเงียบโซเดียมแอบแฝง ในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส บ่อเกิดของโรค NCDs โดยมีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการเกิดโรค NCDs 2. เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อนำไปสู่การลดปริมาณโซเดียมและผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย และ 3.เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียม
ด้วยปัจจุบันอาหารกึ่งสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสภาพการดำรงชีวิตในปัจจุบันตกอยู่ในภาวะที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารเพื่อรับประทานและด้วยสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะใช้เวลาในการเตรียมไม่นาน และกรรมวิธีในการปรุงก็ไม่ยุ่งยาก แถมยังมีรสชาติที่อร่อย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือโซเดียมที่แอบแฝงมา ไม่ว่ารสชาติเดิมจากผลิตภัณฑ์จะอร่อยแค่ไหน คนเราก็หนีไม่พ้นกับการปรุงเพิ่ม โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสเค็ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสถั่วเหลือง ซอสปรุงรส ซึ่งปกติคนเราหากกินโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คิด ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
นายธนพลธ์ กล่าวว่า ขอเน้นให้ผู้บริโภคหันมาอ่านฉลากกันแบบจริงจังก่อนที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ทุกวันนี้โรค NCDs เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยสูงมากเนื่องจากการบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ในข้อมูลจากผลสำรวจ ทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้รวบรวมปัญหาหลายๆด้านออกมาเป็นข้อเสนอดังนี้ ข้อเสนอต่อผู้บริโภค 1) เพื่อให้ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อลดภาวะเลี่ยงเกิดโรค NCDs ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ 1) เพื่อให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 2) ให้ผู้ประกอบการจัดทำฉลากให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนและตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่าย ข้อเสนอต่อหน่วยงาน 1) ให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในในผลิตภัณฑ์อาหาร 2) สนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจ 3) ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผลักดันฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการอ่านฉลาก และ 4) ผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรเรื่องการอ่านฉลากให้กับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมศึกษา (สุขภาพดีแต่วัยเด็ก)


ด้านนางสาวศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ประจำปี 2564 เริ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ในเดือนพฤษภาคม - เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 จำแนกออกเป็น กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 300 ตัวอย่าง กลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง ในซองผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วย ฉลากอาหาร ฉลากโภชนาการ (แบบเต็มและแบบย่อ) และฉลากโภชนาการแบบ GDA ที่มีข้อมูลแตกต่างกันไปตามผลิตภัณฑ์ บางผลิตภัณฑ์ข้อมูลในฉลากโภชนาการกับฉลาก GDAไม่ตรงกัน ผลิตภัณฑ์หมดอายุแล้วแต่ยังวางจำหน่วย เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดคือก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต้องอ่านฉลากทุกครั้ง ในส่วนของผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 300 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 3 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียมดังนี้ 1) ประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 220 – 7,200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 10 อันดับผลิตภัณฑ์ยอดเค็ม ได้แก่ 1.อิซึกิ ราเมง คิวชู ฮะกะตะ โอสโซย ดราย (ราเมงกึ่งสำเร็จรูป รสซุปกระดูกหมู) รสหอมน้ำมันงา 2.อิซึกิ ราเมง คิวชู คุรุเมะ โฮโตเมกิ ดราย (ราเมงกึ่งสำเร็จรูป รสซุปกระดูกหมู) รสกลมกล่อม 3.อิซึกิ ราเมง คุมาโมโตะ สไปซี่ ดราย (ราเมงกึ่งสำเร็จรูป รสเผ็ด) รสspicy 4.อิซึกิ ราเมง คุมาโมโตะ โมคโคส ดราย (ราเมงกึ่งสำเร็จรูปรสซุปกระดูกหมู) รสพริกไทยดำ 5. วีฟง เฝอ อินสแตนท์ ไรซ์ นู้ดเดิ้ล วิท บีฟ (ก๋วยเตี๋ยวเฝอกึ่งสำเร็จรูปรสเนื้อมาพร้อมเนื้อตุ๋น) 6.วีฟง เฝอ เวียดนาม สไตล์ อินสแตนท์ ไรซ์ นู้ดเดิ้ล วิท ชิคเก้น เฟลเวอร์ (ก๋วยเตี๋ยวเฝอกึ่งสำเร็จรูปรสไก่สไตล์เวียดนาม) 7. วีฟง เฝอ อินสแตนท์ ไรซ์ นู้ดเดิ้ล วิท ชิคเก้น (ก๋วยเตี๋ยวเฝอกึ่งสำเร็จรูปรสไก่มาพร้อมเนื้อไก่ตุ๋น) 8.ลิตเติ้ลกุ๊ก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มแซ่บหมู 9. อิซึกิ ราเมง คิวชู คุมาโมโตะ มายู ดราย (ราเมงกึ่งสำเร็จรูป รสซุปกระดูกหมู) 10. ตำหนักทอง ผัดหมี่โคราช พร้อมน้ำปรุงสำเร็จรูป รสจัดจ้าน 2)ประเภท โจ๊ก ข้าวต้ม มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 0 – 1,420 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 10 อันดับผลิตภัณฑ์ยอดเค็ม ได้แก่ 1.มาม่า ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสเล้งแซบ (ชนิดซอง) 2.มาม่า โจ๊กคัพ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง 3.มาม่า ข้าวต้มคัพ ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป รสปลาทรงเครื่อง 4.คนอร์คัพโจ๊ก รสหมู 5. คนอร์คัพโจ๊ก รสไก่ 6. นำเชาซุปเปอร์ไบท์ โจ๊กข้าวหอมมะลิกึ่งสำเร็จรูปผสมปลาซอสเทอริยากิและขิง 7. มาม่า ข้าวต้มคัพ ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป รสหมูสับกระเทียมพริกไทย 8.มาม่า ข้าวต้มคัพ ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป รสกุ้งกระเทียม 9. มาม่า ข้าวต้มคัพ ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป รสซุปไข่สาหร่าย 10. มาม่า ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสไก่ (ชนิดซอง) 3)ประเภท ซุป มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 170 – 810 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 10 อันดับผลิตภัณฑ์ยอดเค็ม ได้แก่ 1. มารุโคเมะ ซุปเต้าเจี้ยวบดกึ่งสำเร็จรูป 2.โอทาโกะ ซุปซีฟูดส์สาหร่ายวากาเมะ กึ่งสำเร็จรูป 3. โอทาโกะ ซุปมิโสะ กึ่งสำเร็จรูป 4. โอทาโกะ ซุปไข่ผสมผักโขม กึ่งสำเร็จรูป 5.เลดี้แอนนา ซุปครีมรสไก่และแฮมกึ่งสำเร็จรูป 6. โอทาโกะ ซุปไข่ผสมสาหร่าย กึ่งสำเร็จรูป 7. เลดี้แอนนา ซุปครีมรสคาโบนาร่ากึ่งสำเร็จรูป 8. เลดี้แอนนา ซุปครีมรสปูอลาสก้ากึ่งสำเร็จรูป 9. เลดี้แอนนา ซุปครีมรสข้าวโพดหวานกึ่งสำเร็จรูป 10. โอทาโกะ ซุปใสผสมเห็ดหอมชนิดเข้มข้น กึ่งสำเร็จรูป และในส่วนของผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 4 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียมดังนี้ 1)ประเภท ซอส ซีอิ้ว น้ำมันหอย น้ำปลา มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 130-2,560 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ) 2) ประเภท น้ำปรุงรส พริกแกง กะปิ มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210-1,490 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 2 ช้อนชา) 3) ประเภท ผงปรุงรส มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 430-1,910 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนชา) 4) ประเภท เนย ชีส มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 45-280 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)
ด้านรศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยกินเค็ม เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆในอนาคตได้ ซึ่งในปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยังมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่มีขนาดอวัยวะที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะไตและหัวใจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเด็กได้รับโซเดียมจากอาหารที่มากเกินความต้องการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การติดกินเค็มจนเป็นนิสัยตั้งแต่เด็กก็ย่อมมีแนวโน้มที่ลิ้นจะติดเค็มไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ในขณะที่ผู้ใหญ่ รับประทานโซเดียมเฉลี่ยที่ 3,636 มิลลิกรัม/วัน แต่ในขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียนอายุ 6-15 ปี และผู้ใหญ่ ควรได้รับ เท่ากับ 1,500 และ 2,000 มิลลิกรัมตามลำดับเท่านั้น และโซเดียมสามารถกระตุ้นน้ำลาย ทำให้อยากอาหารมากขึ้น ยิ่งกินก็ยิ่งติดเค็ม
การสำรวจปริมาณโซเดียมในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรสในครั้งนี้ ถือเป็นเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก และหากมีการผลักดันการเก็บภาษีโซเดียมได้สำเร็จทางผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดเกลือโซเดียม และเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกโซเดียมต่ำออกสู่ตลาดมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งทางผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งในบางประเทศ เช่น ฮังการี อาหารที่มีเกลือโซเดียมไม่เกินเพดานที่กำหนด จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อีกด้วย
ด้านนางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร จากผลสรุปการอ่านฉลากโภชนาการและฉลาก GDA ในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 300 ตัวอย่าง และเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง ของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย นั้นพบว่าฉลากมี 2 ประเภท 1. ฉลากข้อมูลโภชนาการ ที่บอกข้อมูลต่อ 1 หน่วยบริโภค 2.ฉลาก GDA บอกข้อมูลต่อ 1 บรรจุภัณฑ์ ซึ่งผู้บริโภคจะเลือกทานอาหารต้องอ่านฉลากทั้ง 2 ประเภทเพื่อตัดสินใจ และอาจเกิดความไม่เข้าใจและสับสนได้ ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือแสดงฉลากตามความจริง และสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้องและพอเพียง ไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่เป็นธรรม ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค และสนับสนุนเผยแพร่แอพพลิเคชั่นฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) สแกนก่อนกินเมื่อสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน และเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรเรื่องการอ่านฉลากให้กับเด็ก จะทำให้เด็กรู้เท่าทันฉลาก เข้าใจฉลาก เพื่อลดภาวะโรคเรื้อรังในเด็ก