บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “ยาบัญชียาหลักแห่งชาติ 6 รายการ” เพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เข้าถึงยาที่จำเป็น

บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “ยาบัญชียาหลักแห่งชาติ 6 รายการ” เพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง ดูแลผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็นให้ครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มประสิทธิผลการรักษา ทั้งยารักษาวัณโรค โรคหน่วยไตอักเสบ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง


เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 – นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในวันนี้ บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติยา 6 รายการ เป็นประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติเห็นชอบ เพื่อดูแลผู้มีสิทธิได้เข้าถึงยารักษาที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุม ภายหลังผ่านการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการและการบริหารกองทุนแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วและได้นำเสนอต่อบอร์ด สปสช. ในวันนี้


ทั้งนี้ยา 2 รายการแรก ใช้รักษาวัณโรคตามคำแนะนำแนวทางการรักษาขององค์การอนามัยโลก ได้แก่
ยาพรีโตมานิด (Pretomanid) ใช้รักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน หรือวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงที่มีประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัยและใช้เวลาการรักษาสั้นลง โดยกินยาต่อเนื่อง 6 เดือน จากสูตรเดิมที่ต้องกินยาต่อเนื่อง 9-20 เดือน ทำให้เพิ่มโอกาสการรักษา มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ยานี้ประมาณ 980 คนต่อปี ทั้งนี้เมื่อคำนวณกับการรักษาด้วยยาสูตรเดิมจะทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึงจำนวน 51.53-59.64 ล้านบาท
ยาไอโซไนแอสิด+ไรฟาแพนทีน (Isoniazid+rifapentine) ใช้รักษารักษาวัณโรคระยะแฝง หรือผู้มีความเสี่ยงสูงต่อวัณโรคระยะแฝง โดยยาไรฟาแพนทีนเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หากเพิ่มเป็นยาไอโซไนแอสิด+ไรฟาแพนทีนจะช่วยให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้นกว่าการใช้ยาเดี่ยว โดยกินยาน้อยกว่าและใช้ระยะเวลารักษาน้อยกว่ายาสูตรอื่น ประมาณการมีผู้ป่วยที่ต้องใช้ยานี้จำนวน 5,859 คนต่อปี ซึ่งจะลดค่ารักษาเมื่อเทียบกับยาสูตรเดิมได้ 1,117.16 - 1,314.10 บาทต่อคน


“ยา 2 รายการนี้ เบื้องต้นปีงบประมาณ 2568 ทางกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการจัดหางบประมาณ และ สปสช. จะดำเนินการต่อเนื่องหลังจากนั้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว


ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนยาอีก 4 รายการ จะเป็นการขยายข้อบ่งใช้ยาให้ครอบคลุมและเพิ่มประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วยมากขึ้น ได้แก่
ยาโสฟอสบูเวียร์+เวลปาทาสเวียร (Sofosbuvir + Velpatasvir) และ ยาไรบาวิริน (Ribavirin) สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทุกสายพันธุ์ในผู้มีน้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม และผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาครั้งแรก โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณาแล้วว่า ยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง และสามารถใช้ได้ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มีน้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม รวมถึงสามารถให้ยาซ้ำอีก 24 สัปดาห์ กรณีที่ล้มเหลวจากการรักษาครั้งแรก ประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวน 660 คนต่อปี


ยาเซฟตาสิดีม+เอวิแบคแตม (ceftazidime+avibactam) เดิมบัญชียาหลักแห่งชาติกำหนดให้ใช้รักษาการติดเชื้อ Carbapenem resistant Enterobacteriaceae (CRE) ที่มีข้อห้ามใช้ยาโคลิสติน (Colistin) โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้เพิ่มเงื่อนไขให้ชัดเจน คือให้ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาโคลิสตินด้วยเหตุผล คือเชื้อ CRE ที่ตรวจพบดื้อต่อยาโคลิสติน แพ้ยาโคลิสตินรุนแรง หรือเกิดภาวะเป็นพิษต่อไต ทั้งนี้ประมาณการผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาจำนวน 30 คนต่อปี
และ ยาริทักซิแมบ (Rituximab) ได้เห็นชอบหลักการใช้ยาในข้อบ่งใช้เพิ่มเติม ดังนี้


โรคหลอดเลือดอักเสบแองคา ช่วยลดการเกิดซ้ำของโรค ประมาณการผู้ป่วยที่จะใช้ยาจำนวน 794 คน, กลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะไม่ทราบสาเหตุ ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากลุ่มอื่น และลดกลับเป็นซ้ำของโรคได้ 9-19 เดือน ประมาณการผู้ป่วยที่จะใช้ยาจำนวน 80 คน, โรคหน่วยไตอักเสบ ช่วยให้ภาวะของโรคสงบลง 53.6%-80.3% ประมาณการผู้ป่วยที่จะใช้ยาจำนวน 80 คนต่อปี, โรคลูปัสหรือเอสแอลอี ประมาณการผู้ป่วยที่จะใช้ยาเป็นเด็กจำนวน 60 คน และผู้ใหญ่จำนวน 568 คน
โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ ใช้ทดแทนยา IVIg ซึ่งให้ผลการรักษาไม่แตกต่างกัน แต่มีราคาถูกกว่า ปีงบประมาณ 2567 ฐานข้อมูล สปสช. มีจำนวน 46 คน หากผู้ป่วยครึ่งหนึ่งเปลี่ยนมาใช้ยา Rituximab จะ ประหยัดค่ารักษาจากการใช้ยา IVIg ได้จำนวน 4,013,879.04 บาทต่อปี, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน มีประสิทธิผลมากกว่าการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว และราคายาถูกลงมากจึงได้ขยายข้อบ่งใช้ยา ประมาณการผู้ป่วยที่ใช้ยาจำนวน 973 คน


“ยา 4 รายการที่ขยายข้อบ่งใช้เพิ่มเติม บอร์ด สปสช. มอบอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาฯ ในการปรับแผนจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ วงเงินงบประมาณไม่เกิน 43.42 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2568 ให้ใช้งบคงเหลือจากแผนการจัดหายาฯ ตามโครงการพิเศษ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว


 


3 กุมภาพันธ์ 2568