รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการหลัง ครม. มีมติเห็นชอบการประกาศเขตพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานระดับพื้นที่ยกระดับการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์
วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2568) ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2568 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยมีเรื่อง สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 28 มกราคม 2568 เห็นชอบเรื่องการกำหนดเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยสามารถพิจารณาปรับปรุง หรือกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ได้ตามความเหมาะสม การประชุมครั้งนี้ จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการดำเนินงานในพื้นที่
โดยกำหนดเขตพื้นที่เป็น 2 ระดับ ได้แก่ เขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังและการป้องกันโรค คือ มีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่เกิน 75 มคก./ลบ.ม. จะมีมาตรการ 1) สนับสนุนหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง 2) จัดเตรียมพื้นที่หรือห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน หรือศูนย์รองรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง และเขตพื้นที่ที่ต้องมีการควบคุมโรค คือ มีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง เกิน 75 มคก./ลบ.ม. มีมาตรการ 1) สนับสนุนหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และจัดเตรียมพื้นที่หรือห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ ในเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังและการป้องกันอย่างต่อเนื่อง 2) หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ พิจารณาปรับรูปแบบการทำงานแบบ Work from home เป็นลำดับแรก และงดกิจกรรมกลางแจ้งที่ต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชนให้พิจารณาปรับรูปแบบการดำเนินงานหรือวิธีการทำงานของหน่วยงานเพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตามสมควรแก่กรณี 3) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด 4) ใช้กลไกและมาตรการทางกฎหมายตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ฯ โดยให้คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ให้คำแนะนำแก่อธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อประกาศเขตพื้นที่ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ฯ ซึ่งเป็นกรณีที่หากปล่อยไว้อาจเกิดหรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตพื้นที่ เพื่อให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากฝุ่น PM2.5 หรือกำหนดมาตรการอื่นใดที่เหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ
พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมสำหรับเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ตาม พ.ร.บ. ฯ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การลดการสัมผัส ฝุ่น PM2.5 โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดศูนย์รองรับการอพยพประชาชน (shelter) สำหรับกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตียงเข้าพักคอยจนกว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อยู่ในภาวะปกติ มาตรการที่ 2การสื่อสารความเสี่ยง โดย สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด แจ้งเตือนประชาชนเมื่อเข้าพื้นที่ฝุ่นเกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ผ่านช่องทางต่างๆ ผู้นำชุมชน/ผู้ใหญ่บ้าน สื่อสารความเสี่ยงผ่านเสียงตามสายทุกวัน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทำกิจกรรมเคาะประตูบ้าน (knock door) สื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แจ้งเตือนผู้ป่วยโรคที่อาจมีอาการกำเริบจากการ สัมผัสฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจให้ป้องกันตนเองจากการรับสัมผัสฝุ่น PM2.5 มาตรการที่ 3 การเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุก เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สุ่มเลือกพื้นที่เพื่อคัดกรองสุขภาพประชาชนเชิงรุกด้วยแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ และเก็บพิกัดบ้านของผู้ที่ได้รับการคัดกรอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นำพิกัดจากผู้ที่เข้ารับบริการจากคลินิกมลพิษออนไลน์ไปดำเนินการคัดกรองสุขภาพประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคหรืออาการจากฝุ่น PM2.5 ด้วยแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ มาตรการที่ 4 การเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรับ(เวชกรรมสิ่งแวดล้อม) ให้หน่วยบริการสุขภาพ คัดกรองผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคหรืออาการจากฝุ่น PM2.5 เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์วินิจฉัยโรค ที่แผนกต่อไปนี้ แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) แผนกผู้ป่วยฉุกเฉิน (ER) แผนกหูคอจมูก แผนกตา แผนกอายุรกรรม แผนกกุมารเวชกรรม และ ลงรหัสโรค (ICD-10) ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 ร่วมกับรหัส Z58.1 ในระบบ HDC/DDS มาตรการที่ 5 เจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้านผู้ควบคุมดูแลสถานศึกษา หรือผู้ควบคุมดูแลสถานที่อื่น ๆ ให้แจ้งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคหรืออาการจากฝุ่น PM2.5
4 กุมภาพันธ์ 2568