
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดตู้ห่วงใยแห่งแรกของจังหวัดนนทบุรี หลังเปิดให้บริการแล้ว 4 แห่ง ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดเวลา และค่าใช้จ่ายของประชาชน ตั้งเป้าขยายครอบคลุมโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ
วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2568) ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดตู้ห่วงใย (Smart Health Cabin) แห่งแรกของจังหวัดนนทบุรี โดยมี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี นพ.สกล สุขพรหม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า คุณชัชฎา อภิชาสุทธากุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด คณะผู้บริหาร และประชาชน เข้าร่วม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายยกระดับระบบสาธารณสุขจาก 30 บาทรักษาทุกโรคมาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดเวลา และค่าใช้จ่าย ซึ่งตู้ห่วงใยเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสุขภาพที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อยใน 42 อาการหรือกลุ่มโรค สามารถรับบริการตรวจสุขภาพ พบแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine และรับยาได้ฟรี อีกทั้งยังช่วยรวมข้อมูลสุขภาพ ซึ่งจะทำให้การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ การบริหารงบประมาณ และการวิเคราะห์โรคด้วย AI เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญยังช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งการลดภาระงานของแผนกผู้ป่วยนอก หรือ OPD ในช่วงกลางวัน และช่วยลดภาระงานของห้องฉุกเฉิน หรือ ER ในช่วงกลางคืน ซึ่งจะทำให้แพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น โดยที่ผ่านมา เปิดให้บริการตู้ห่วงใยแล้ว 4 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับตู้ห่วงใยที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้านี้ เป็นแห่งแรกในจังหวัดนนทบุรี และจะขยายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อีกกว่า 900 แห่ง ทั่วประเทศต่อไป
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า "ตู้ห่วงใย" เป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และภาคเอกชน ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอย และช่วยลดภาระงานของโรงพยาบาล โดยเฉพาะ OPD และ ER ที่ต้องรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก โดยผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย สามารถเข้ารับการตรวจผ่านระบบ Telemedicine ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที และได้รับยาอย่างรวดเร็ว ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของประชาชนได้แบบเรียลไทม์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Smart Health care & Digital Health Transformation ของกระทรวงสาธารณสุข โดยตู้ห่วงใย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จะให้บริการทุกวัน เวลา 08.00-22.00 น. ที่ชั้น 1 อาคารความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและพักผู้ป่วย 9 ชั้น
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ได้พัฒนาระบบบัตรทองมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เป็นการดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 23 และนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นับเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของระบบบัตรทอง ไม่เพียงแต่เพิ่มความสะดวกในการเข้ารับการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนผู้มีสิทธิร่วม 48 ล้าน ตู้ห่วงใยเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ สปสช. ได้เพิ่มเติมเป็นบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นรูปแบบของการให้บริการสุขภาพเชิงรุกในชุมชนที่ให้การดูแลหากเกิดภาวะเจ็บป่วยขึ้น โดยครอบคลุม 42 กลุ่มโรค
คุณชัชฎา กล่าวว่า ตู้ห่วงใย มีอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Medicare Things ช่วยให้แพทย์ได้รับข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง ทำให้รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้บริการรวดเร็วภายใน 10 นาที โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการวิเคราะห์เชิงลึก การคาดการณ์ความเสี่ยงของโรคและสร้างการวิเคราะห์แนวโน้มสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการสร้าง Big Data ทางด้านสุขภาพ เพื่อติดตามพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพประชาชน และยังนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนการพัฒนาโครงการในอนาคตได้
13 กุมภาพันธ์ 2568


