3 รพ. รางวัล ‘มิตรภาพบำบัด ปี 67’ สานต่อปณิธาน ‘หมอสงวน’ ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

www medi.co.th

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ - รพ.พะเยา จ.พะเยา - รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี รับมอบ “รางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่นฯ ปี 2567” ประเภทที่ 3 หน่วยงานองค์กร และทีมสนับสนุน ชูผลงานเด่น สานต่อปณิธาน “หมอสงวน” ยึดผู้ป่วยเป็นการศูนย์กลางในการดูแล ทั้งผู้ป่วยระยะท้าย - ครอบครัว ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์


 


ในงาน “รำลึก 17 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” จัดโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานเปิดงานและมอบ “รางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประจำปี 2567” ซึ่ง “รางวัลดีเด่น ประเภทที่ 3 หน่วยงาน/องค์กรและทีมงานสนับสนุน งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ระดับตติยภูมิ/ทุติยภูมิ/ปฐมภูมิ” ในปีนี้มีโรงพยาบาล 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากผลงาน “หอผู้ป่วยพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจ”


โรงพยาบาลพะเยา จ.พะเยา จากผลงาน “ศูนย์ชีวาภิบาล”  และ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรีจากผลงาน “การดูแลผู้ป่วยประคอบประคองครอบคลุมทุกมิติ” ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับมอบรางวัลนี้ 

รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างหอผู้ป่วยพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator Dependent Unit : VDU)  ด้วยมองเห็นว่าการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ของประเทศไทย และเทคโนโลยีการรักษาที่ก้าวหน้าซึ่งทำให้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้นนั้น มีโอกาสทำให้ระบบสุขภาพจะต้องเผชิญกับการต้องดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุในระยะวิกฤต (ICU) เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ โรงพยาบาลจะต้องความพร้อมบริหารจัดการจำนวนเตียงในห้อง ICU ที่มีจำกัดให้รองรับผู้ป่วยระยะวิกฤตที่เพิ่มขึ้นได้ โดยผู้ป่วยในห้อง ICU อาจไม่ใช่ทุกรายที่อยู่ในระยะวิกฤต บางรายพ้นระยะวิกฤตไปแล้วแต่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและระบบดูแลต่อเนื่อง จนทำให้เตียงที่มีไม่พอรองรับผู้ป่วยรายใหม่


ดังนั้น ปี 2560 ทีมจึงรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ จัดตั้งหอผู้ป่วยพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจ เพื่อผ่องถ่ายผู้ป่วยที่พ้นระยะวิฤตไปแล้ว แต่อยู่ในช่วงพักฟื้นไปอยู่ในหอดังกล่าวจนกว่าจะสามารถหยุดการพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจ โดยได้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จากหลากหลายสาขามาร่วมเป็นจิตอาสาในการช่วยดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ได้ช่วยให้ผู้ป่วยหยุดการพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจได้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถหยุดการพึ่งพาได้ แต่สามารถกลับบ้านได้แล้ว ก็จะมีทีมไปเยี่ยมถึงที่บ้านและสอนการดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยและกับคนในครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญห้อง ICU ในโรงพยาบาลก็มีเตียงพร้อมสำหรับรองรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นด้วย


        “รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลสำหรับทีมงานของเราทุกคน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ มช. ที่สนับสนุน จนตอนนี้ VDU กลายเป็นหอผู้ป่วยอย่างเป็นทางการแล้ว โดยสิ่งจะต่อยอดต่อไปก็คือเราอยากจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพราะไม่ได้อยากแค่สอนแค่ญาติและผู้ป่วย แต่อยากให้ตัวอย่างที่เราทำถูกนำไปขยายต่อในหน่วยงานอื่นๆ ด้วย อาจจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ เพื่อช่วยให้คนไข้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น” รศ.นพ.เฉลิม กล่าว

พญ.กนกรส โค้วจิริยะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านปฐมภูมิ และหัวหน้าศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลพะเยา จ.พะเยา กล่าวว่า การเกิดขึ้นของงานมิตรภาพบำบัดของศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลพะเยา เริ่มมาจากการพบว่าการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยระยะท้าย และผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ ให้ครบทุกมิติทั้งกาย จิตใจ จิตวิญญาณ และสังคมนั้น หากอาศัยทีมโรงพยาบาลอย่างเดียวไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการดูแลได้ทั้งหมด เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายและซับซ้อน


ดังนั้น จึงทำให้ทางศูนย์ชีวาภิบาลมีการสร้างทีมสหวิชาชีพ และภาคีเครือข่าย โดยมีทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับต่างๆ มาร่วมกันดูแลโดยยึดหลักผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจากจุดนี้ไม่ใช่แค่ทำให้การดูแลรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังทำให้เกิดเครือข่ายขนาดย่อมในชุมชนเพิ่มขึ้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองเพื่อเข้าไปดูแลผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ในชุมชน


“รางวัลที่ได้ก็ทำให้รู้สึกสิ่งที่เราทำมาตลอดสามารถทำประโยชน์ในอีกด้านหนึ่งได้ด้วยคือการเป็นตัวอย่างให้หน่วยงานอื่นๆ หรือชุมชนอื่นได้มาจัดบริการในลักษณะนี้ภายใต้แนวคิดมิตรภาพบำบัด ซึ่งเราเองก็จะพยายามต่อยอดให้ชุมชน สหวิชาชีพ และเครือข่ายต่างๆ ขยายออกไปให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มได้มากขึ้นต่อไป” พญ.กนกรส ระบุ


นพ.ธันวา พิทักษ์สุธีพงศ์ ประธานคณะทำงานศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี กล่าวว่า การริเริ่มของทางโรงพยาบาลที่สอดคล้องแนวคิดมิตรภาพบำบัด เกิดขึ้นจากการมองเห็นว่าผู้ป่วยไม่ได้ต้องการเพียงการรักษาทางกายเท่านั้น แต่ยังต้องการดูแลเยียวยาทางจิตใจ และความเมตตาของเพื่อนมนุษย์ด้วย ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลจึงมุ่งมั่นในการดูแลผู้ป่วยประคอบประคองให้ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การดูแลในระยะการเป็นผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล กระทั่งการประสานกับสหวิชาชีพอื่นๆ ในการมาร่วมกันดูแลผู้ป่วยให้สามารถกลับบ้านได้ ไปจนถึงสร้างเครือข่ายระดับท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และครอบครัวผู้ป่วย รวมถึงการให้ยืมเครื่องช่วยหายใจ สำหรับสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีสุดทั้งกายและใจในวาระสุดท้ายของชีวิต


“การดูแลของเจ้าหน้าที่นอกจากทำเพราะเป็นงานแล้ว จากที่สัมผัสมาพวกเขาให้การดูแลผู้ป่วยเพราะรู้สึกผูกพันกับคนไข้ ด้วยมิตรไมตรี เหมือนคนไข้เป็นในครอบครัว ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นนอกเวลาราชการ หรือได้ค่าตอบแทนหรือไม่ และบางครั้งโรงพยาบาลก็ให้ยืมอุปกรณ์ในระยะการเปลี่ยนในการดูแลผู้ป่วยด้วย ซึ่งเป็นการใช้ใจในการดูแล ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนสิ่งที่เรียกว่ามิตรภาพบำบัดได้อย่างชัดเจน” นพ.ธันวา กล่าว


นพ.ธันวา กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณทางมูลนิธิมิตรภาพบำบัดและผู้เกี่ยวข้อง ที่เล็งเห็นว่าการให้บริการของโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ซึ่งทำให้ทางโรงพยาบาล และเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมกันทำในส่วนนี้รู้สึกภาคภูมิใจ ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อไป เพราะแน่นอนว่าตอนปฏิบัติงานกันไม่ได้คิดว่าจะได้รางวัล แต่พอสิ่งที่ทำมีคนเห็นคุณค่า และได้รับคำชมก็ทำให้ทุกคนรู้สึกดีใจ
       


อนึ่ง สำหรับการมอบรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มี 5 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 ผู้ป่วยจิตอาสา มิตรภาพบำบัดดีเด่น ประเภทที่ 2 เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประเภทที่ 3 หน่วยงาน/องค์กรและทีมงานสนับสนุน งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ระดับตติยภูมิ ประเภทที่ 4 องค์การพัฒนาเอกชน/องค์กรชุมชน องค์การสาธารณะประโยชน์/กลุ่มบุคคล งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ระดับชุมชน และประเภทที่ 5 สื่อสนับสนุน งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น