กทม. รุกมาตรการป้องกัน-แก้ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในกลุ่มเยาวชน

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ว่า สนพ. ได้ดำเนินงานด้าน HIV อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกรุงเทพฯ 10,879 คน โรคที่พบมากที่สุดคือ ซิฟิลิส 3,677 คน รองลงมาคือ หนองใน หนองในเทียม หูดหงอนไก่ และเริม ซึ่งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ โดย สนพ. ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ การใช้ถุงยางอนามัย และยาป้องกันก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP/PEP) รวมทั้งสนับสนุนการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม และประชาสัมพันธ์การให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กทม. (BKK Pride Clinic) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ



นอกจากนี้ สนพ. ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ตามแนวทาง ดังนี้ (1) RRTTPR (Reach-Recruit-Test-Treat-Prevention-Retain) Reach & Recruit : การจัดบริการเชิงรับและเชิงรุกในการให้ข้อมูลความรู้และชักชวนตรวจคัดกรอง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ในสถานศึกษา สถานบันเทิง และจุดรวมตัวของกลุ่มเป้ามาย โดยร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและ NGO (2) Test &Treat : การตรวจคัดกรอง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบิกจ่ายตามสิทธิและไม่เสียค่าใช้จ่ายในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเสี่ยงสูง และกลุ่มผู้ไร้สิทธิ หากพบผู้ติดเชื้อให้บริการดูแลรักษา หรือส่งต่อตามสิทธิการรักษา (3) Prevention : ส่งเสริมการป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น และยาป้องกันก่อน-หลังการติดเชื้อ HIV (PrEP/PEP) และ (4) Retain : การติดตาม ผู้ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงติดตามป้องกันให้ผลเป็นลบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดให้มีระบบบริการสุขภาพกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยให้กลุ่มวัยรุ่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยจัดหาและกระจายถุงยางอนามัย สารหล่อลื่นให้กลุ่มเป้าหมาย (เยาวชนในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา สถานบันเทิง และสถานประกอบการ) รวมถึงวางแผนและจัดบริการและติดตามประเมินผลร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ที่ BKK Pride Clinic ทั้ง 31 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัด กทม. 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 20 แห่ง หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาผ่านระบบ Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” หรือ สายด่วนสุขภาพ สนพ. โทร. 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง


นางภาวิณี รุงทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้จัดมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงถุงยางอนามัย บริการป้องกันและตรวจคัดกรองในกลุ่มเยาวชน กลุ่มพนักงานบริการ กลุ่ม LGBTQI+ และประชาชนทั่วไป เช่น กิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันวาเลนไทน์ 50 เขต ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และขยายบริการป้องกันเชิงรุกในกลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มเยาวชน กลุ่มพนักงานบริการ กลุ่มLGBTQI+ และประชาชนทั่วไป ได้แก่ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานบันเทิง และสถานประกอบการ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการสุขภาพที่รอบด้านและเข้าสู่บริการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้มีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายสถานพยาบาลศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดและนอกสังกัด โรงพยาบาลเอกชนและร้านขายยา สนับสนุนบริการที่เป็นมิตร บริการชุดตรวจซิฟิลิส ชุดตรวจ HIV ด้วยตนเอง ให้กลุ่มประชากรเป้าหมาย และส่งต่อเข้าระบบบริการสุขภาพและการชักชวนคู่สัมผัสตรวจคัดกรองโรค


ขณะเดียวกันยังได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและเยาวชนรักอย่างปลอดภัย ภายใต้แนวคิด “รัก” เลือกได้ : Youth Choices for SAFE SEX”ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดระบบบริการสุขภาพทางเพศ การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การให้คำปรึกษา การให้บริการตรวจคัดกรองและการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของสถานพยาบาลในสังกัดอย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง โดยจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันวาเลนไทน์ตลอดเดือน ก.พ. 68 ที่สำนักงานเขต 50 เขต ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง สนับสนุนถุงยางอย่างเพียงพอ และเพิ่มจุดกระจายถุงยาง (Condom point) ทั่วกรุงเทพฯ


สำหรับมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมความรู้เรื่องเพศศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดผ่านการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับช่วงวัย และรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการมีความรักอย่างสร้างสรรค์ มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (SAFE SEX) และให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศ ที่เหมาะสม โดยเฉพาะเด็กนักเรียนกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยสามารถเข้าถึงถุงยางอนามัยฟรีได้ที่สำนักงานเขต 50 เขต ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และร้านขายยาเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทฯ และสามารถปรึกษาปัญหาทางเพศได้ที่สายด่วน โทร. 063-4989508 หรือ Line OA @prepbangkok หรือเพจเฟซบุ๊ก iloveclub