ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พัฒนา AI ยกระดับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ ย้ำมะเร็งตับระยะลุกลาม “ยานวัตกรรม” ข่วยชะลอการลุกลามของโรค

www medi.co.th

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการรักษา “ยกระดับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ ด้วยการเรียนรู้เชิงลึกระยะไกล” สามารถแปลผลด้วยเอไอภายใน 1.30 นาที ช่วยย่นระยะเวลาการรอผลผลตรวจการคัดกรองมะเร็งตับในพื้นที่ห่างไกล  และย้ำ”ยานวัตกรรม” ช่วยผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลาม ชะลอการลุกลามของโรค แต่สิทธิยังไม่ครอบคลุม “กองทุนมะเร็ง”  อีกหนึ่งทางเลือกของการเข้าถึงสิทธิ์การรักษาด้วยยานวัตกรรม

รศ.นพ. ธีรภัทร อึ้งตระกูล รักษาการคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ  และผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี   จากข้อมูลสถิติเมื่อปี 2565  พบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเกิดใหม่ในประเทศไทยรวม 183,541 ราย จากจำนวนประชากรรวม 70,078,198 คน มะเร็งตับเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 จากโรคมะเร็งทั้งหมด โดยมีผู้ป่วยรายใหม่            จำนวน 27,963 ราย/ปี คิดเป็นร้อยละ 15.2  และในทุก ๆ 1 ชั่วโมงจะมีผู้ป่วยมะเร็งตับเสียชีวิต 3 ราย และทุก ๆ วัน จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับ จำนวน 74 ราย


มะเร็งตับมี  2 ชนิด คือ มะเร็งเซลล์ตับ  ที่มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีเรื้อรัง การดื่มแอลกอฮอล์ ไขมันพอกตับจากโรคเบาหวานและโรคอ้วนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60  ของโรคมะเร็งตับ และอีกร้อยละ 40 คือมะเร็งท่อน้ำดี มีสาเหตุจาการจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ โดยจะมีอุบัติการณ์การเกิดมากโดยเฉพาะในพื้นที่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อการติดพยาธิใบไม้ในตับ เช่น การบริโภคปลาน้ำจืด และอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ 


รศ.นพ. ธีรภัทร กล่าวต่อไปว่า  การตรวจคัดกรองเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยวินิจฉัยผู้ป่วย ผู้ป่วยมะเร็งตับร้อยละ 70-80  เข้าสู่กระบวนการรักษาเมื่อมีอาการหนัก หรือเข้าสู่ระยะลุกลาม ทำให้การรักษายากขึ้น เพื่อให้ตรวจพบผู้ป่วยได้ในระยะเริ่มต้น การตรวจคัดกรองมะเร็งตับในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 6 – 12 เดือนโดยใช้อัลตราซาวน์ จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย แต่ก็มีข้อจำกัดด้านบุคลากรที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีเป็นคนตรวจ และอ่านผล


ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมรักษาโรงมะเร็ง โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในทุกมิติ โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการรักษา “ยกระดับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ ด้วยการเรียนรู้เชิงลึกระยะไกล” หรือ “AICEDA LIVERW เพื่อให้สุขภาพคนไทยในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสตรวจคัดกรองที่จะช่วยลดความเสี่ยง โดยเฉพาะโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นโรคเฉพาะถิ่นเกิดมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


  โดยได้มีการสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เพื่อใช้ในการอ่านผลการตรวจคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี  ซึ่งเป็นการตรวจจับรอยโรค ด้วยภาพอัลตราซาวด์สองมิติโดยอัตโนมัติ โดยได้ทำโครงการนำร่องที่ อ. บ้านหลวง จ.น่าน  ซึ่งมีปัญหาการเกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับ  ปัจจุบันมีชาวบ้านที่ได้รับการตรวจคัดกรองประมาณ 2,000 คน โดยจะต้องมีการตรวจคัดกรองทุก 6 – 12 เดือน


 การตรวจแบบนี้มีจุดเด่น คือ ใช้ได้ทั้งมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี  และสามารถแปลผลด้วยเอไอภายใน 1.30 นาที และมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 90 ช่วยย่นระยะเวลาการรอผลผลตรวจการคัดกรองมะเร็งตับในพื้นที่ห่างไกลได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องแพทย์ผู้ตรวจ ซึ่งจะต้องมีความสามารถในการอ่าน และประเมินผลอัลตร้าซาวน์ ดังนั้น จึงต้องพัฒนาบุคลากรเข้ามาเสริมด้านนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งพัฒนา เอไอ ให้มีความสามารถ และมีความแม่นยำมากขึ้น 


 อย่างไรก็ตาม การคัดกรองวิธีนี้ยังไม่ได้อยู่ในการตรวจสุขภาพปกติ ยังไม่ครอบคลุมสิทธิการรักษา ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึง ดังนั้น การตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยง จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการเกิดโรค และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้อีกด้วย

ด้านแพทย์หญิงจอมธนา ศิริไพบูลย์  ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โรคมะเร็งตับสามารถรักษาได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น โดยใช้วิธีผ่าตัด หรือการจี้เพื่อเอาก้อนเนื้อที่เป็นเซลล์มะเร็งออก ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตได้ถึง  60 เดือน กรณีตรวจพบในระยะกลางซึ่งต้องรักษาโดยการใช้เคมีบำบัดและการอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง มีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 30 เดือน แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบก็คือ ผู้ป่วยจะตรวจพบและเข้าสู่การรักษาเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือ  4 ซึ่งเป็นระยะลุกลาม และมีความยากในการรักษา  ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาและการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 4-8 เดือน    


ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยมะเร็งมีความก้าวหน้ามากขึ้น รักษาได้ด้วยยานวัตกรรมในผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลาม จะให้ผลในการรักษาที่ดีกว่า ช่วยชะลอการลุกลามของโรค และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระหว่างการรักษา จึงเปรียบเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลาม ผู้ป่วยทุกคนควรมีโอกาสได้รับการรักษาด้วยยานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน


การเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพหรือยานวัตกรรม หมายถึงโอกาสในการใช้ชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ  แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในด้านการรักษา ซึ่งการที่จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ หรือยานวัตกรรมมากขึ้น จะต้องบรรจุรายการยานวัตกรรมให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพของระบบสาธารณสุขไทย ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพโดยไม่ถูกจำกัดด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ  เป็นการจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข


          


ด้านนพ.จำรัส พงษ์พิศ อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินอาหารและตับโรงพยาบาลหนองคาย และตัวแทนมูลนิธิรักษ์ตับ  เปิดเผยสถานการณ์มะเร็งตับในประเทศไทยว่า โรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1    ของประเทศไทย คิดเป็น 22.8%


การรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะลุกลามในปัจจุบันใช้ยานวัตกรรม 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งเป็นยากิน และยาภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยายับยั้งการสร้างหลอดเลือด (Immunotherapy +Anti-angiogenesis) ซึ่งเป็นยาฉีด


โดยจากการศึกษาพบว่า ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยได้เฉลี่ย 13 เดือน  ส่วนยาภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยายับยั้งการสร้างหลอดเลือด ซึ่งเป็นยาฉีดสามารถยืดชีวิตได้เฉลี่ยประมาณ 19 เดือน ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาในการรักษา ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือนหลังจากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะลุกลาม


นายแพทย์จำรัสยังกล่าวอีกว่า ในผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยานวัตกรรมนอกจากช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวออกไปแล้ว   ยังสามารถลดขนาดก้อนมะเร็งจนสามารถผ่าตัดหรือเปลี่ยนตับได้ ซึ่งเรียกว่า bridging therapy เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคได้ แม้จะอยู่ในระยะลุกลามแล้วก็ตาม


การรักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบันผู้ป่วยยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยานวัตกรรมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษายังค่อนข้างสูง หากผู้ป่วยต้องการรักษาด้วยยามุ่งเป้า และยานวัตกรรม ยาทั้ง 2 ชนิดผู้ป่วยจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับครอบครัวทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานแม้จะมีโปรแกรมสนับสนุนจากบริษัทยา (Patient Support Program) ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ


ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่อยู่ในระยะลุกลามมักจะมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น มีภาวะตับวาย มีปริมาณน้ำในช่องท้อง อาจมีหรือไม่มีการติดเชื้อ ตับแตก มีภาวะเลือดออกในช่องท้อง ผู้ป่วยจึงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในหลาย ๆ ครั้ง บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้าห้อง ICU ใช้เครื่องช่วยหายใจ บางรายอาจจะต้องฟอกไต ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่เพียงสร้าง         ความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย แต่ยังสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ระบบสาธารณสุข และยังเป็นการเพิ่มภาระงานให้บุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม การที่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยามุ่งเป้า และยานวัตกรรมและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการผลักดันให้ยาทั้งสองกลุ่มเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งตับมีจำนวนมาก                                     โดยผู้ป่วยในระยะลุกลามมีความจำเป็นต้องใช้ยานวัตกรรมซึ่งเป็นไปตามแนวทางการรักษาทั้งระดับสากลและประเทศไทย    จึงอาจส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณโดยรวม แต่เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายทั้งระบบอย่างรอบด้าน ค่าใช้จ่ายโดยรวม           ในการรักษาด้วยยานวัตกรรม อาจไม่แตกต่างจากค่าใช้จ่ายในการรักษาแบบดั้งเดิม (Conventional therapy) เมื่อพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ผลลัพธ์ทางคลินิก การรักษาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มีต้นทุนที่สูงมากไม่แพ้กัน ทั้งค่ายา ค่าห้องและอุปกรณ์ในห้อง ICU ค่าเครื่องช่วยหายใจ ค่าฟอกไต รวมถึงต้นทุนด้านบุคลากรและทรัพยากรทางการแพทย์อื่น ๆ และค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย


ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย มะเร็งวิทยาสมาคม มูลนิธิต่างๆ รวมถึงบริษัท    ที่จำหน่ายยา พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาเข้าถึงยานวัตกรรม ด้วยการรณรงค์ผ่านโครงการ “Voice of Liver ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง” ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคม และยังเป็นการส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจ รวมทั้ง การประสานขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตยา เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการรักษา อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้


มะเร็งตับไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อครอบครัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อไม่สามารถทำงานได้ ก็จะกลายเป็นภาระของครอบครัว ทั้งในด้านการดูแลและค่าใช้จ่าย หากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยานวัตกรรมได้ ก็จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้ การบริหารจัดการภาระค่าใช้จ่ายยานวัตกรรม จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งในแง่ของจำนวนผู้ป่วย อัตราการเสียชีวิต   ที่สูง และทางเลือกในการรักษาที่มีจำกัด


 


ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทยยังมีความต้องการความก้าวหน้าในการรักษา และการเข้าถึงยานวัตกรรม ซึ่งยามุ่งเป้าเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ได้รับการขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2551 ส่วนยาภูมิคุ้มกันบำบัด ได้รับการขึ้นบัญชียาหลักเมื่อปี 2563  แต่การเข้าถึงสิทธิในการรักษาด้วยยามุ่งเป้า ยังเข้าถึงผู้ป่วยในบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยังไม่ได้รับการบรรจุในสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้ป่วยไม่ว่ากลุ่มใดยังไม่สามารถเข้าถึงได้ การเข้าถึงยานวัตกรรมไม่เพียงแต่ช่วยผู้ป่วย แต่ยังช่วยลดภาระของระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การรักษาที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจได้


ที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และองค์กรภาคประชาชน เพื่อจะช่วยผลักดันการการเข้าถึงยานวัตกรรมได้เร็วขึ้น  โดยมีแนวคิดในการจัดตั้ง กองทุนยามะเร็ง โดยทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการศึกษาร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภารรัฐ และภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางสร้างความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนยามะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงยานวัตกรรมได้มากขึ้น


         การจัดตั้งกองทุนยามะเร็ง  เป็นแนวคิดหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยานวัตกรรมโดยเรียนรู้จากโมเดลของหลาย ๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ อิตาลี และไต้หวัน ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนยามะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับประเทศไทยกำลังศึกษาการนำแนวคิด วิธีการมาปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างการบริหารจัดการ หน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการดูแลทั้งระบบ รวมทั้งเงินทุนในการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องศึกษาในรายละเอียดอีก  แม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดตั้งได้เป็นรูปธรรม แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการหาทางเลือกใหม่ในการช่วยแก้ไขปัญหา เป็นการจุดประกายให้ทุกภาคส่วนให้หันมาให้ความสำคัญและบูรณาการความร่วมมือ เพราะหากไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ ผู้ป่วยมะเร็งตับก็จะยังอยู่กับการแบบรักษาในรูปแบบเดิม ผู้ป่วยก็จะไม่ได้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและยานวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ในการรักษาอย่างเต็มที่และเท่าเทียม