
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC – CEUS) แถลงข่าวเปิดตัวความร่วมมือโครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี : Rajavithi Skywalk โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกล่าวถึงความร่วมมือในโครงการฯ โอกาสนี้ คุณโรจน์ กาญจปัญญา รองกรรมการ/สถาปนิก บริษัท ATOM Design นำเสนอรายละเอียดการออกแบบ และคุณอรยา สูตะบุตร กรรมการมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ กลุ่ม BIG TREE กล่าวถึงกระบวนการและแนวทางการจัดการต้นไม้ ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์กร กลุ่มบุคคล หน่วยงานภาคีเครือข่าย ประชาชนทั่วไป ให้เกียรติเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารสิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีจุดแข็งสำคัญในความเชี่ยวชาญที่ครบถ้วนสหสาขาวิชา ไม่เพียงแค่สุขภาพและการแพทย์ แต่ศิลปะกับดนตรี หรือสังคมศาสตร์ ก็มีผู้เชี่ยวชาญครบถ้วน เพื่อทำให้ความรู้ความเชี่ยวชาญที่มี สร้างโซลูชันที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัยเพื่อพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทยและสังคมโลก อยากให้องค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีอยู่ช่วยพัฒนาชีวิตและสุขภาวะที่ดีให้คนไทย ด้วยการทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ที่สุด ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้เกิด Real World Impact อย่างแท้จริง การพัฒนาคุณภาพการบริหารด้านสาธารณสุขให้เข้าสู่ระดับสากล รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นมีส่วนสำคัญ โดยโรงพยายาบาลในสังกัดของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้ง 6 แห่งต่างให้ความสำคัญและเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ อีกทั้งเชื่อมโยงการทำงานทั้งภายใน และภายนอก โดยมองประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือสร้างกลไกการเชื่อมโยงและกำหนดทิศทาง กับสร้างกลไกที่จะทำให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างกันให้ได้มากที่สุด
โครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี: ยกระดับการสัญจร เชื่อมต่อโรงพยาบาล ขับเคลื่อนโยธี-ราชวิถี สู่การเป็นย่านบริการสาธารณสุขและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เดินเท้าได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เป็นหนึ่งในย่านยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเมืองตามผังแม่บทการฟื้นฟูเขตเมืองชั้นใน โดยมีถนนราชวิถีเป็นแกนสำคัญในการพัฒนา อันที่ตั้งของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ และมูลนิธิช่วยคนตาบอด รวม 12 หน่วยงาน ซึ่งเป็นย่านที่มีโรงพยาบาลและหน่วยงานทางการแพทย์กระจุกตัวหนาแน่นที่สุดในกรุงเทพมหานครและประเทศไทย ในปัจจุบันย่านนี้ได้ยกระดับเป็น “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” หรือ Yothi Medical Innovation District (YMID) ส่งผลให้ย่านโยธี-ราชวิถี เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณผู้ใช้งานอย่างหนาแน่น ทั้งจากคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เดินทางมารับบริการสาธารณสุข ทำงาน และเดินทางผ่านเข้าออก ด้วยเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเชื่อมต่อจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มสถานีรามาธิบดีในอนาคต โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายร่วมผลักดัน สนับสนุนการดำเนินงาน ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่าง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และคนตาบอด คนพิการ จะเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ในการเดินทางเชื่อมโยงโรงพยาบาล สถาบันการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และการคมนาคมในพื้นที่ได้อย่างสูงสุด

ด้านรองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า นโยบายของกรุงเทพมหานครที่มุ่งทำให้เมือง เดินได้ เดินดี และน่าเดิน เป็นนโยบายสำคัญที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ การที่เรามีทางเท้า ทางเดินที่ดี จะช่วยส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี เพิ่มความปลอดภัยในการสัญจร และส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ทั้งนี้ ถนนราชวิถี เป็นพื้นที่สำคัญเนื่องจากเป็นที่ตั้งของหน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายแห่ง ทั้ง โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีผู้สัญจรเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ที่มาใช้บริการทางการแพทย์ และบุคลากรของโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมกับขนส่งสาธารณะ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มสถานีรามาธิบดีในอนาคต ประกอบกับทางเดิน ทางลาดในปัจจุบันนั้น ทำให้การสัญจรยังไม่สะดวก เพราะทางเดินแคบหรือกว้างเพียง 1.00 – 3.30 เมตร รวมถึงมีจุดตัดทางเข้า – ออกอาคารหลายแห่ง ดังนั้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา จึงเล็งเห็นโอกาสในการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าถนนราชวิถี เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการสัญจรแก่คนทุกกลุ่ม รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงการสัญจรระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ โดยพื้นที่โครงการ อยู่บริเวณถนนราชวิถี (ช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – แยกตึกชัย) รวมระยะทางทั้งสิ้น 1.341 กม. แบ่งได้เป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1. ช่วงแยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แยกตึกชัย เชื่อมทางเดินลอยฟ้า รพ.รามาธิบดี ระยะทาง 1 กม. และ 2. ช่วงเกาะราชวิถีและเกาะพหลโยธิน ระยะทาง 341 ม. ทั้งนี้ โครงการฯ จะเริ่มสัญญาตั้งแต่ เม.ย.68 – เม.ย. 2569 ระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน งบประมาณ 467 ล้านบาท
“โครงนี้จะสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 12 หน่วยงาน ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่บางส่วน ในนามของกรุงเทพมหานคร ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยกันร่วมมือผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นจริง” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวทิ้งท้าย