ฟิลิปส์ร่วมสนับสนุนการดูแลสุขภาพมารดาและทารก ผ่านนวัตกรรม AI ด้านสูตินรีเวช เนื่องในวันอนามัยโลก 2025

www medi.co.th


วันอนามัยโลก (World Health Day) ตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกใช้เป็นโอกาสรณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ โดยแคมเปญหลักในปีค.ศ. 2025 นี้ “เริ่มต้นชีวิตด้วยสุขภาพที่ดี สู่อนาคตที่สดใสในวันหน้า (Healthy Beginnings, Hopeful Futures)” ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ทั้งภาครัฐและองค์กรด้านสาธารณสุขร่วมรณรงค์เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของมารดาและทารกแรกเกิด และ เพื่อให้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสตรีในระยะยาว
ฟิลิปส์ ร่วมรณรงค์ในวันอนามัยโลก ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพของมารดาและทารก ด้วยการพัฒนาโซลูชันอัลตร้าซาวด์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล และการติดตามอาการจากระยะไกล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มากขึ้น เพื่อส่งเสริมอนาคตด้านการดูแลสุขภาพที่ดีสำหรับมารดาและทารกทั่วโลก


นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI มีศักยภาพในการปฏิวัติการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่เหมาะสม
ในปีพ.ศ. 2566 รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก ได้รับทุนสนับสนุนเป็นครั้งที่สองจากมูลนิธิเกตส์ (Gates Foundation) เป็นมูลนิธิเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดตั้งโดยบิล เกตส์ และเมลินดา เกตส์ เพื่อเร่งขยายการพัฒนาแอปพลิเคชันด้านสูตินรีวชที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ผ่านการใช้เครื่องอัลตราซาวด์แบบพกพา Philips Lumify โดยเทคโนโลยี AI นี้สามารถช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจหาพารามิเตอร์ที่สำคัญ เพื่อระบุความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ และช่วยให้พวกเขาสามารถแนะนำแนวทางการดูแลที่เหมาะสมได้

เมื่อพร้อมใช้งาน โซลูชันอัลตร้าซาวด์ของฟิลิปส์ด้านสูตินรีเวชที่ขับเคลื่อนด้วย AI นี้ จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่และพยาบาลผดุงครรภ์ในการเก็บข้อมูลสำคัญของมารดาและทารกในครรภ์ โดยต้นแบบปัจจุบันสามารถระบุพารามิเตอร์ที่สำคัญ อาทิเช่น อายุครรภ์และขนาดของถุงน้ำคร่ำ ซึ่งช่วยในการประเมินการตั้งครรภ์และสุขภาพของทั้งมารดาและทารกได้


ตั้งแต่ที่มูลนิธิเกตส์ให้ทุนสนับสนุนช่วงแรกในปีพ.ศ. 2564 มีการดำเนินการโครงการนำร่องในเคนยา ซึ่งส่งผลลัพธ์เชิงบวก โดยโซลูชันนี้ช่วยให้สามารถตัดสินใจด้านการดูแลสุขภาพของสตรีมีครรภ์ได้ดีขึ้นในชุมชนชนบทและพื้นที่ห่างไกล


ในแต่ละวัน มีสตรีกว่า 800 คนทั่วโลกที่ตั้งครรภ์และเสียชีวิตจากสาเหตุที่ป้องกันได้ โดยเกือบ 95% ของมารดาที่เสียชีวิตในปีพ.ศ. 2563 อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลางล่าง ในขณะที่มารดาทั่วโลกราว 287,000 คนเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากภาวะแทรกซ้อนระหว่างและหลังการตั้งครรภ์ และหลังการคลอด ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์และส่วนใหญ่สามารถป้องกันหรือรักษาได้ อาทิ การตกเลือด การติดเชื้อ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น ในปีพ.ศ.2563 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการตายของมารดาเท่ากับ 117 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน เมื่อจำแนกตามกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกได้ทำการคาดการณ์อัตราการตายของมารดาไทยเท่ากับ 29 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน และอัตราการตายของมารดาไทยเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเซียน (ASEAN) รองจากประเทศสิงคโปร์ (7 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000คน) และมาเลเซีย (21 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000คน) ทั้งนี้ การได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการคลอด สามารถช่วยชีวิตของมารดาและทารกแรกเกิดได้i


นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ฟิลิปส์ เรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบนวัตกรรมอันทรงคุณค่า เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล เราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรมากมาย เพื่อจัดการทรัพยากรและนำความเชี่ยวชาญและวิสัยทัศน์มาช่วยกันแก้ปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้น เรามีการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันที่ครอบคลุมการให้บริการทางการแพทย์ระยะไกล และการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มที่ และสำหรับวันอนามัยโลก 2025 นี้ เราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์เพื่อการดูแลสุขภาพของมารดาและทารก เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพมารดาและลดอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสุขภาพที่สำคัญในประเทศไทย รวมถึงในประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน”


ผลลัพธ์เชิงบวกจากโครงการนำร่อง
ในช่วงที่ดำเนินโครงการนำร่องในประเทศเคนยา โซลูชันอัลตร้าซาวด์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI นี้ ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยความก้าวหน้าของดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยี AI บุคลากรทางการแพทย์จึงไม่จำเป็นต้องประมวลและแปรผลภาพโดยตรงอีกต่อไป และยังช่วยลดระยะเวลาในการฝึกอบรมให้กับพยาบาลผดุงครรภ์จากหลายสัปดาห์เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการคัดกรองผู้ป่วย ในขณะเดียวกัน มารดาที่ตั้งครรภ์เองก็สามารถติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ และหากพบความผิดปกติ ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม

"หนึ่งชีวิตที่สูญเสีย คือความสูญเสียที่มากเกินแล้ว" ดร. เบียทริซ มูราเก ผู้อำนวยด้านความยั่งยืนและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ฟิลิปส์ โกลบอล ได้กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์นิตยสาร TIME ฉบับพิเศษเกี่ยวกับอนาคตของระบบสาธารณสุข เครื่องอัลตราซาวด์แบบพกพาที่ขับเคลื่อนด้วยโซลูชัน AI ใหม่นี้มีศักยภาพที่จะปฏิวัติวงการอัลตราซาวด์ ช่วยลดช่องว่างด้านการดูแลสุขภาพของมารดาในประเทศเคนยาได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ดร. เบียทริซ มูราเก และ ดร. นิดี ลีคา นักรังสีวิทยาจากมหาวิทยาลัย Aga Khan University ในประเทศเคนยา ซึ่งเป็นพันธมิตรทางคลินิกคนสำคัญของฟิลิปส์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบสาธารณสุขให้กับผู้หญิงทั่วโลก


โซลูชันใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ช่วยคัดกรองความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจ
องค์การอนามัยโลก แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนอายุครรภ์ครบ 24 สัปดาห์ เพื่อประเมินอายุครรภ์และตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจมากยิ่งขึ้น


ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี AI ที่พัฒนาขึ้นเพื่อแปลผลข้อมูลภาพจากเครื่องอัลตราซาวด์ Philips Lumify จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถระบุการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการส่งต่อผู้ป่วยต่อไป และยังช่วยเสริมความมั่นใจให้แก่มารดาที่ตั้งครรภ์ในการตัดสินใจเลือกแนวทางการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเองด้วยเช่นกัน

เดนิลสัน ฮิรากิ คุราโทมิ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจอัลตราซาวด์ ฟิลิปส์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "อัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์ แต่การฝึกอบรมการใช้งานเพื่อให้สามารถแปลผลได้อย่างถูกต้องก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน นอกจากโครงการนำร่องที่ฟิลิปส์ โกลบอลได้ดำเนินการแล้ว ฟิลิปส์ ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังให้การสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาคในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงการตั้งครรภ์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของมารดา และการนำนวัตกรรมใหม่เข้าสู่ตลาด เรามั่นใจว่าจะมาช่วยยกระดับการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของมารดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนชนบทและพื้นที่ห่างไกลทั่วทั้งภูมิภาค"