‘เทศบาลเมืองเขารูปช้าง’ ใช้ กปท.-LTC ดูแล ‘ผู้มีภาวะพึ่งพิง’ ครบวงจร จัดรถรับ-ส่งไป รพ. วางระบบเยี่ยมบ้าน กายภาพบำบัด

www medi.co.th

“เทศบาลเมืองเขารูปช้าง” บูรณการภาคีเครือข่าย ผ่านงบ “กปท. – LTC” ดูแล “ผู้มีภาวะพึ่งพิง” ครบวงจร ทั้งจัดรถรับ-ส่งไป รพ. และพัฒนา “แอป KRC Care” เพิ่มความสะดวกส่งคำร้องและนัดวันรับส่ง พร้อมจัดระบบเยี่ยมบ้าน–กายภาพบำบัด ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น


ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นายสายันต์ อาจณรงค์ รักษาการผู้อำนวยการ สปสช. เขต 12 สงขลา ลงพื้นที่ไปยัง อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568  เพื่อติดตาม “โครงการบริการรับ-ส่งผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้ด้อยโอกาสไปสถานพยาบาล และโครงการการจัดบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการที่มีภาวะพึ่งพิง” ที่ดำเนินการโดยเทศบาลเมืองเขารูปช้าง บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพในพื้นที่ ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) และกองทุนระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care หรือ LTC)  


       

นายนราเดช คำทัปน์ นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง เปิดเผยว่า ต.เขารูปช้าง มีพื้นที่กว้างประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีทั้งส่วนที่มีความเป็นเมือง และส่วนที่มีความเป็นชนบท ขณะที่ในด้านโครงสร้างประชากรก็ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบเรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 22.7 หรือ 9,513 คน จากประชากรทั้งหมด 43,107 คน ในจำนวนดังกล่าวยังเป็นผู้พิการและผู้มีภาวะพึ่งพิงอีกจำนวนไม่น้อย อีกทั้งบางรายก็ไม่มีผู้ที่มีศักยภาพเพียงพอ หรือมียานพาหนะที่จะพาไปรับบริการได้ ทำให้มีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสุขภาพ


        เมื่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้ใช้งบ กปท. จัดบริการรถ - ส่งผู้ทุพพลภาพไปรับบริการที่สถานพยาบาลได้ เทศบาลเมืองเขารูปช้างจึงจัดทำโครงการบริการรับ - ส่งผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้ด้อยโอกาสไปสถานพยาบาล โดยใช้งบ กปท. นี้ เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุม ซึ่งทางเทศบาลยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า KRC Care สำหรับส่งคำร้อง และนัดวันรับบริการรถรับ-ส่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความสะดวก ซึ่งนับตั้งแต่ดำเนินการ 6 เดือน มีการจัดรถรับ-ส่งผู้ป่วยแล้วกว่า 600 ครั้ง


        “ปกติแล้วบางท้องถิ่นค่อนข้างมีงบประมาณจำกัด และไม่เพียงพอต่อการดำเนินการในหลายอย่างเพื่อพัฒนาบริการสาธารณะในพื้นที่ ซึ่งการสนับสนุนงบประมาณของ สปสช. ถือเป็นการแบ่งเบาภาระทางงบประมาณให้กับท้องถิ่นอย่างมาก และช่วยให้ท้องถิ่นนำงบประมาณของท้องถิ่นเองไปพัฒนาในส่วนอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านการศึกษา” นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง ระบุ


        นอกจากการจัดโครงการจัดรถรับ-ส่งแล้ว ในส่วนผู้มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้ที่ต้องได้รับกายภาพบำบัด ทางเทศบาลยังได้มีการจัดโครงการการจัดบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการที่มีภาวะพึ่งพิง โดยใช้งบประมาณจากกองทุน LTC เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวที่บ้าน ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควบคู่ไปด้วย


       

.ส.วิลาวัณย์ พิยะวรรณ์ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีภาวะพึ่งพิงร่วมด้วย อายุ 43 ปี ซึ่งต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) กล่าวว่า เดิมการจะไปรับการฟอกเลือดในแต่ละครั้งที่สถานพยาบาลได้จะต้องใช้การจ้างรถยนต์ไป เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300 บาทต่อครั้ง ซึ่งแต่ละสัปดาห์จะต้องไปฟอกเลือด 3 ครั้ง เท่ากับ 1 สัปดาห์จะต้องเสียค่าใช้จ่าย 900 บาท รวม 3,600 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่ากิน และเวลาที่เสียไปอีก


ดังนั้นเมื่อมีโครงการนี้ ก็รู้สึกประทับใจอย่างมาก เพราะมีเจ้าหน้าที่มาช่วยในการเคลื่อนย้ายเพื่อขึ้นรถไปรับบริการ เนื่องจากในครอบครัวมีแต่ผู้สูงอายุ ทำให้ก่อนหน้านี้การเคลื่อนย้ายเพื่อไปขึ้นรถแต่ละครั้งเต็มไปด้วยยากลำบาก และที่สำคัญยังประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกจำนวนมาก


        “ดีมากสำหรับโครงการนี้ เราอยากจะขอบคุณมาก ทั้งนายกเทศมนตรี และ สปสช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยเหลือตรงนี้ ถ้ามีโครงการแบบนี้ต่อไป โดยช่วยให้ผู้ที่ประสบปัญหาในการไปรับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้นก็จะดีมาก” ผู้ป่วยที่ร่วมโครงการรถรับส่งฯ กล่าวเสริม

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่นี่ได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน มีรูปธรรม ไม่ใช่แค่จัดรถรับ-ส่งผู้ป่วย แต่มีการจัดระบบ เตรียมอุปกรณ์ เช่น เตียง รถเข็น และรถพยาบาล พร้อมมีการอบรมเจ้าหน้าที่ในช่วยดูแลระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งแต่ละคนที่มีภาวะหรือโรคแตกต่างกัน นอกจากนี้ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเขียนใส่กระดาษเพื่อขอรับบริการ แต่มีการพัฒนาแอปฯ KRC Care สำหรับให้ประชาชนกรอกรายละเอียดและแจ้งขอความช่วยเหลือมาได้ด้วย


        “ไม่ว่าจะไปกายภาพบำบัด ฟอกไต หรือไปพบแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาล หากเข้าหลักเกณฑ์ และผ่านคณะกรรมการของทางเทศบาล จะมีการจัดรถทั้งรับ -ส่งไปกลับจากบ้านไปโรงพยาบาล และหากเป็นผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงก็จะช่วยเคลื่อนย้ายไปสู่เตียงนอนในบ้านของผู้ป่วยได้เลย ซึ่งคิดว่า อปท. ไหนที่ยังไม่ได้ให้บริการในส่วนนี้ หรือกรณีที่เริ่มแล้วมีปัญหาติดขัดก็สอบถามและเรียนรู้การจัดระบบรถรับ-ส่งของที่เทศบาลเมืองเขารูปช้างได้ที่ได้ทำแบบครบวงจร” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ระบุ


        ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า งบ กปท. และ LTC ที่สปสช. สนับสนุนให้กับท้องถิ่น รองรับการจัดบริการสำหรับทุกสิทธิรักษา โดยท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการโดยนำ 2 ส่วนมาสนับสนุนการจัดบริการด้วยกันแบบครบวงจรได้ด้วย ทั้งการจัดรถรับ-ส่ง ให้บริการเยี่ยมบ้าน ตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ ในการให้บริการกายภาพบำบัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย


        “ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการเข้าถึงบริการ เพราะแม้ผู้ป่วยสามารถรับบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายก็จริง แต่หลายคนอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่ไปตามนัด เลิกไปรับการรักษาเลยก็มี หรืออย่างเคสหนึ่งของเทศบาลเมืองเขารูปช้าง เป็นผู้มีภาวะพึ่งพิงและไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับการดูแลที่โรงพยาบาล ก็เกือบจะเลือกที่จะจบชีวิตตนเอง แต่พอทางเทศบาลจัดโครงการและเข้าไปดูแล ก็ทำให้เขามีสภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น จนไม่มีความคิดดังกล่าวแล้ว” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวทิ้งท้าย