รพ.จุฬาฯ ปลื้ม ยอดใช้งานแอป “CheckPD” ทะลุ 50% ชูวาระวันพาร์กินสันโลก ย้ำให้ผู้คนตระหนักรู้จักโรคพาร์กินสัน

www medi.co.th

รพ. จุฬาฯ เผยความคืบหน้าการใช้แอปพลิเคชัน CheckPD แอปพลิเคชันที่ใช้ตรวจหาความเสี่ยงการเป็นพาร์กินสัน สูงถึง 50% หลังเปิดตัวได้เพียงสองเดือนเศษ หวังช่วยลดความรุนแรงของโรคด้วยการสกรีนหาคนมีความเสี่ยงเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมตระหนักรู้ถึงภัยจากโรคพาร์กินสันเนื่องในวันพาร์กินสันโลก


ศ. นพ. รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแอปพลิเคชัน CheckPD ที่ใช้ตรวจหาความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสัน หลังจากเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ดาวน์โหลดเข้าใช้งานแล้วถึง 5,961 ราย จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 รายภายในปีนี้ โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ 2,589 ราย ภาคกลาง 1,938 ราย ภาคเหนือ 216 ราย ภาคใต้ 237 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 237 ราย ภาคตะวันตก 40 ราย ภาคตะวันออก 260 ราย และไม่ระบุพื้นที่ 444 ราย


แอปพลิเคชัน CheckPD เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาขึ้นโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับสภากาชาดไทย เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจหาความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสัน และเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการชัดเจน เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นหนึ่งในโรคความเสื่อมทางระบบประสาทที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันหรือรักษาให้หายขาด มีเพียงการรักษาเพื่อประคองอาการไม่ให้รุนแรง และเพื่อให้ผู้ป่วยยังคงใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ โดยความสำคัญของการรักษาโรคพาร์กินสันคือ หากตรวจพบได้เร็ว รับการรักษาเร็ว จะช่วยลดอาการรุนแรงของโรคได้


 

“อาการของโรคพาร์กินสันจะแสดงออกมาแบบค่อยเป็นค่อยไป มีระยะเวลาของอาการเตือนและการดำเนินโรคที่ค่อนข้างนาน 10-20 ปี ทำให้ผู้ที่เป็นในระยะแรกมักไม่รู้ตัวเพราะอาการที่มีไม่มาก กว่าจะมีอาการชัดเจนและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพาร์กินสัน ก็เมื่อมีอาการในระดับรุนแรง ทำให้การรักษาเป็นไปค่อนข้างยาก ซึ่งนอกจากผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคพาร์กินสันแล้ว ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน หากมีการตรวจคัดกรองด้วยแอปพลิเคชัน CheckPD แล้วพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็น สามารถนำผลการทดสอบที่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกของการดำเนินโรค จะช่วยลดความรุนแรงของอาการลงได้ รวมถึงสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ” ศ.นพ.รุ่งโรจน์กล่าว


ทุกวันที่ 11 เมษายน ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันพาร์กินสันโลก (World Parkinson’s Disease Day) เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงโรคพาร์กินสัน ในโอกาสนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่สนใจ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CheckPD เพื่อตรวจหาความเสี่ยงของตนเองและคนในครอบครัว เพราะการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกของการดำเนินโรค จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น


 

ศ.นพ.รุ่งโรจน์กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CheckPD เพื่อทดสอบหาความเสี่ยงการเป็นพาร์กินสันแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังได้ประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานหลายแห่ง อาทิ บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยา หรือการอบรมให้ความรู้กับอสม. ในการร่วมประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชันดังกล่าว รวมถึงการวางแผนในการลงพื้นที่ห่างไกล เพื่อนำแอปพลิเคชันไปตรวจหาความเสี่ยงให้กับประชาชนในพื้นที่หลายจังหวัด ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม นี้อีกด้วย


แอปพลิเคชัน CheckPD ใช้เวลาเพียง 25 นาทีในการทำแบบประเมินความเสี่ยง มีทั้งการทดสอบการขยับนิ้วมือ ทดสอบอาการสั่น ทดสอบการทรงตัว และทดสอบการออกเสียง ซึ่งผลที่ได้จากการทดสอบมีความแม่นยำสูงถึง 90% สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อทดสอบความเสี่ยงการเป็นพาร์กินได้ที่แอปสโตร์และเพลย์สโตร์