
กคช. - สปสช. ร่วมลงนามความร่วมมือขับเคลื่อน “30 บาทรักษาทุกที่” ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่พักอาศัยชุมชนเคหะแห่งชาติ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี รุกให้บริการนวัตกรรมใหม่ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ประเดิมติดตั้ง “ตู้ห่วงใย” ที่โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง และศูนย์นวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัย ห้วยขวาง พร้อมขยายติดตั้งเพิ่มเติมในชุมชนเคหะทั่วประเทศต่อไป

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีการลงนามมข้อตกลงความร่วมมือระหว่างการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มช่องทางการข้าถึงนวัตกรรมบริการสาธารณสุขภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยมี นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีการลงนามฯ ในครั้งนี้ ณ ศูนย์นวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัยและบริหารงานขาย (NHA INNOVATION CENTER) เคหะชุมชนห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง กรุงเทพฯ
ทั้งนี้มี นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่พักอาศัยของประชาชนภายใต้โครงการการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ ในการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน การลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในวันนี้ จะเป็นตัวอย่างของการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน เชื่อมั่นว่าจะช่วยให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในการเคหะสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดี มีมาตรฐาน ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเท่าเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

โดยมี “ตู้ห่วงใย” หนึ่งในนวัตกรรมบริการด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลร่วมให้บริการ ซึ่งที่ผ่านมาจากการติดตั้งตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ กทม. มีประชาชนตอบรับเข้าใช้บริการแล้วกว่า 1,500 คน โดยจะทำการติดตั้งที่ชุมชนการเคหะภายใต้ความร่วมมือนี้ซึ่งจะขยายไปทั่วประเทศ รวมถึงบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขเชิงรุกอื่นๆ ด้วย เช่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น รถทันตกรรมเคลื่อนที่ บริการเจาะเลือดผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่บ้าน เป็นต้น จึงนับเป็นการยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพในชุมชน สร้างรูปแบบบริการที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของประชาชนด้วยแนวทาง 30 บาทรักษาทุกที่
นายธเนศพล กล่าวว่า การลงนามความระหว่างการเคหะแห่งชาติ และ สปสช. ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนการเคหะแห่งชาติจำนวนกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาตนเองและชุมชน และด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังเข้าถึงบริการนวัตกรรมสุขภาพต่างๆ ที่เป็นเทคโนโลยีทันสมัย
เช่น ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากเน้นย้ำในความร่วมมืออันดีในครั้งนี้ คือขอให้มีการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนอย่างละเอียด เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง และขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้นำโครงการดี ๆ มาสู่ชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน
นายแพทย์สุนทร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรตามทะเบียนบ้านกว่า 5 ล้านคน แต่หากรวมผู้ที่เข้ามาอยู่ในอาศัยในพื้นที่จะมีถึงราว 10 ล้านคน ซึ่งการดูแลในด้านสุขภาพปฐมภูมิ ทาง กทม. เรามีโรงพยาบาล 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และเพิ่มเป็น 70 แห่งในปีนี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอรองรับ ซึ่งนวัตกรรมบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมหรือนวัตกรรมบริการต่างๆ เช่น ระบบการแพทย์ทางการ เป็นต้น จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น สู่การมีสุขภาพดีที่ ซึ่งขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในความร่วมมืออันดีในวันนี้ โดยเฉพาะการเคหะแห่งชาติที่วันนี้มีประชาชนชาว กทม. อาศัยอยู่ในการเคหะเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือโครงการต่างๆ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพ การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง และโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ฯ เป็นต้น และการลงนามบันทึกข้อตกลงของ 2 หน่วยงานนี้ ยังเป็นก้าวสำคัญของอนาคตในการสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้าภายใต้นโยบายของรัฐบาลต่อไป
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ท่านวราวุธ ศิลปอาชา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางและกลุ่มเปราะบางเพื่อให้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเอง ที่นอกจากลดความเหลื่อมล้ำ ยังดำเนินการส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียม อันนำไปสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน โดยความร่วมมือกับ สปสช. ในครั้งนี้จะส่วนหนุนเสริมให้ผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ผ่านนวัตกรรมบริการสาธารณสุข ซึ่งในส่วนของนวัตกรรมบริการ “ตู้ห่วงใย” เบื้องต้นได้กำหนดติดตั้งนำร่อง 2 แห่ง คือ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 และศูนย์นวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัย ห้วยขวาง และมีแผนจะขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. มีความยินดีอย่างยิ่งในการดำเนินการด้านสุขภาพขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ร่วมกับการเคหะแห่งชาติในพื้นที่พักอาศัยที่การเคหะแห่งชาติกำกับดูแล เพื่อดูแลผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขตามสิทธิ โดยเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพในระดับปฐมภูมิ เพื่อมทางเลือกให้กับประชาชน และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยการสนับสนุนจัดบริการสาธารณสุขด้วยนวัตกรรมการแพทย์ทางไกลเชิงรุกภายในชุมชนการเคหะ เช่น การติดตั้งตู้ห่วงใย และรอรับยาจัดส่งถึงบ้าน รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้มีคลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น และคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เพื่อให้ประชาชนหาหมอได้สะดวกขึ้น ไปจนถึงการให้บริการเชิงรุกในรูปแบบรถทันตกรรมเคลื่อนที่ และการเจาะเลือดผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่บ้าน เป็นต้น